Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนาฏกรรมกับการปกครอง และการประกอบสร้างนาฏกรรมตามนโยบายการปกครอง โดยเน้นที่ผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และนาฏกรรมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2468-2516 ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ในการค้นคว้าและรวบรวมเอกสารทั้งชั้นต้น และชั้นรอง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสังเกตการณ์จากสื่อ และสนทนากลุ่มย่อยกับผู้ทรงคุณวุฒิตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษา พบว่า นาฏกรรมกับการปกครองมีความสัมพันธ์กัน 6 ประการ คือ ความหมาย รูปแบบ เนื้อหา สาระสำคัญ บทบาท และการเปลี่ยนแปลง นาฏกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่แสดงสัมพันภาพให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต่อบุคคล สังคม และการปกครอง ผู้นำจึงใช้คุณสมบัติพิเศษของนาฏกรรม คือ การโน้มน้าวจิตใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคม ค่านิยม และอุดมการณ์ตามที่ตนคาดหวัง เมื่อสังคมเกิดจุดวิกฤตสู่การปฏิวัติการปกครอง และวัฒนธรรม จึงเกิดการล้มล้างนาฏกรรมเดิม และสร้างนาฏกรรมเพื่อเผยแพร่นโยบายของผู้นำใหม่ แต่ปรากฏการณ์ของนาฏกรรมไทยตามนโยบายการปกครอง ระหว่าง พ.ศ. 2468-2516 มีการเปลี่ยนแปลง 8 ระยะ คือ 1. พระราชมรดกนาฏกรรม รัชกาลที่ 6 2. นาฏกรรมเพื่อการอนุรักษ์ 3. ยุตินาฏกรรมหลวง และสร้างกระแสนาฏกรรมราษฎร 4. การสร้างภาพลักษณ์ประเทศด้วยนาฏกรรมราษฎร 5. นาฏกรรมต้านคอมมิวนิสต์ (1) สร้างกระแสนาฏกรรมราชสำนัก 6. การสร้างภาพลักษณ์ประเทศด้วยนาฏกรรมหลวง7.นาฏกรรมต้านคอมมิวนิสต์ (2) 8. นาฏกรรมเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตย รูปแบบของนาฏกรรมไทยตามนโยบายการปกครองมี7ประเภทคือ 1. โขน 2. ละคร 3. รำ ระบำ 4. เพลง 5. การแสดงพื้นบ้าน 6. บัลเลต์ 7. ภาพยนตร์ เนื้อหาของนาฏกรรมตามนโยบายการปกครอง มี 3 ประเภท คือ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และวีถีชีวิต ซึ่งแสดงลักษณะผู้นำ สถานการณ์ของปัญหา แนวคิด และแนวทางปฏิบัติพัฒนาสังคม การประกอบสร้างนาฏกรรมตามนโยบายการปกครอง เป็นการสร้างสรรค์นาฏกรรมจากข้อมูลพื้นฐานที่สอดคล้องกับผู้นำ เหตุการณ์ของสังคม นโยบายการปกครอง และวัตถุประสงค์ของที่สร้างงาน ซึ่งนำมาสู่แนวคิด รูปแบบ เนื้อหา สาระสำคัญ วิธีการสร้าง มี 2 วิธี คือ การคิดขึ้นใหม่ และ การปรับจากที่มีอยู่เดิม ด้วยการสอดแทรกแนวคิด แนวปฏิบัติของผู้นำในบทประพันธ์การแสดง และองค์ประกอบอื่น ๆ ผลผลิตของนาฏกรรมเป็นเครื่องมือสะท้อนตัวตนผู้นำ สังคม การเผยแพร่มี 2 วิธี คือ โน้มน้าว ชี้นำ เชิญชวน และกำหนด บังคับให้ปฏิบัติตามจนเป็นกิจวัตร และประเพณี เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคม และปลูกฝังค่านิยม อุดมการณ์ นำไปสู่สังคมใหม่ตามที่ผู้นำต้องการ นาฏกรรมเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีพลังในการโน้มน้าว เชิญชวน ชี้นำจิตใจบุคคล กลุ่มบุคคล สังคมให้คิดและปฏิบัติตามนโยบายการปกครอง ดังนั้นผู้นำจึงควรศึกษานาฏกรรมเพื่อความเข้าใจ และเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาพฤติกรรม ค่านิยม อุดมการณ์ของบุคคล และสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ