Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานภาพชายผู้เป็นนางโชว์ และ ความสำคัญของ นางโชว์ที่มีต่อการแสดงคาบาเรต์ ในโรงละคร เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการค้นคว้า เอกสาร การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล โดยเน้นศึกษานางโชว์ในโรงละครคาบาเรต์ ของเมืองพัทยา ได้แก่ บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด บริษัทอัลคาซาร์ จํากัด และ บริษัทโคลอสเซี่ยมโชว์ พัทยา จำกัด โดยการสัมภาษณ์ และการสังเกตการณ์ และการตรวจสอบข้อมูลด้วยการจัดสัมมนากลุ่ม และนำเสนอข้อมูลด้วยการพรรณนาวิเคราะห์ ตามวัตถุประสงค์ในการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า การแต่งกายข้ามเพศของบุคคลเพศชายในนาฏกรรม เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในประเทศแถบตะวันตก เอเชีย เอเชียตะวันออกฉียงใต้ และในประเทศไทย จนกระทั่งเกิดเป็นอาชีพนางโชว์ในโรงละครคาบาเรต์ โดยระยะเริ่มแรกเกิดขึ้นประมาณพ.ศ. 2515-2520 และพัฒนามาถึงปัจจุบัน ส่วนเส้นทางของการเข้าสู่อาชีพนางโชว์ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น (12-18 ปี) เป็นการเรียนรู้ทักษะด้านการแสดง และการเปลี่ยนแปลงร่างกายด้วยฮอร์โมนเพศหญิง ผ่านสังคมโรงเรียน และกลุ่มกะเทยในชุมชน จากนั้นเมื่อเข้าสู่อาชีพนางโชว์สามารถแบ่งสถานภาพของนางโชว์ออก เป็น 5 ระดับ เริ่มตั้งแต่งนางโชว์ทดลองงาน นางโชว์พนักงานประจำ นางโชว์ลูกคู่พิเศษ นางโชว์ตัวร้อง และนางโชว์ดาวเด่น ความสำคัญของนางโชว์แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) การสร้างอาชีพและรายได้ภายในองค์กร 2) การกระจายรายได้สู่ชุมชนเมืองพัทยา 3) การสร้างรายได้และผลประโยชน์ต่อธุรกิจที่เกี่ยข้อง 4) การเป็นภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และประเทศไทย อีกทั้งเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคคลในกลุ่ม ความหลากหลายทางเพศ เพื่อการเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง นางโชว์ระดับดาวเด่นเปรียบเสมือนนางพญาผึ้ง โรงละครเปรียบดั่งรังผึ้ง องค์ประกอบต่าง ๆ ในการแสดงคือผึ้งงานที่ร่วมกันทำงานผสานกับนางพญาผึ้ง การที่นางโชว์จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง ทุกอย่างเข้าด้วยกัน จำเป็นต้องใช้หลักการเจริญปัญญา สมาธิ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการแสดงให้เหนือกว่านางโชว์ทั้งปวงของโรงละคร เพื่อให้เกิดอานุภาพผ่านการแสดงในโรงละครคาบาเรต์ ซึ่งเมืองพัทยาประกอบโรงละครคาบาเรต์ 3 แห่ง ที่มีความหลากหลายของรูปแบบการแสดง เปรียบดั่งรสชาติของน้ำผึ้งแต่ละรังที่แตกต่างกันไป แต่พันธกิจหลักของโรงละครคาบาเรต์มีความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปรียบดั่งรังผึ้งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความบริบูรณ์ให้เกิดในวัฏจักรทางธรรมชาติ