Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาความสำคัญของอรรถกถามหาสุบินชาดกที่มีต่อการสร้างสรรค์วรรณคดีเรื่องพุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนความสัมพันธ์กับวรรณคดีเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาพบว่าอรรถกถามหาสุบินชาดกมีเนื้อหาหลักคือความฝันและคำทำนายทั้ง 16 ประการที่กวีนำไปสร้างสรรค์เป็นวรรณคดีพุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศลสำนวนต่าง ๆ ทั้งฉบับหอสมุดแห่งชาติ ฉบับภูมิภาคท้องถิ่น รวมถึงวรรณกรรมและความเรียงอธิบายในปัจจุบัน โดยเรื่องพุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศลฉบับต่าง ๆ เหล่านี้มีลักษณะสำคัญร่วมกันคือ การรักษาความฝันและคำทำนายทั้ง 16 ประการดังกล่าวไว้ตามอรรถกถามหาสุบินชาดก นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไปของแต่ละภูมิภาคด้วย พุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศล ฉบับหอสมุดแห่งชาติที่ค้นพบจำนวน 17 เล่มสมุดไทย แบ่งได้ 3 กลุ่มสำนวน โดยคัดเลือกตัวแทนสำนวนของแต่ละกลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ 1 ใช้สำนวนเลขที่ 7 กลุ่มที่ 2 ใช้สำนวนเลขที่ 10 และ กลุ่มที่ 3 ใช้สำนวนเลขที่ 196 ซึ่งพบว่าสำนวนเลขที่ 196 ของฉบับหอสมุดแห่งชาติมีความสัมพันธ์กับทุกฉบับที่ค้นพบในท้องถิ่นภาคกลางที่เป็นร้อยกรอง แสดงให้เห็นความนิยมในแบบสำนวนดังกล่าว พุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศลในภาคเหนือแสดงให้เห็นถึงลักษณะความเป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาที่ใช้ประกอบการเทศน์สอน โดยมีการใช้ถ้อยคำสำนวน และคาถาบาลีที่สัมพันธ์กับอรรถกถามหาสุบินชาดกอย่างชัดเจน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแสดงลักษณะเด่นที่ใช้พุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศลสะท้อนสังคมปัจจุบัน ทั้งการเมืองการปกครองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอีกวิธีหนึ่ง ขณะที่ภาคใต้นอกจากมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมแล้วยังมีมุ่งให้ความรู้ทั้งทางศีลธรรมและเป็นตำราการประพันธ์อีกด้วย อรรถกถามหาสุบินชาดกยังมีความสัมพันธ์ทางด้านเนื้อหาและแนวคิดกับวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา กาพย์พระไชยสุริยา และกาละนับมื้อส่วย โดยปรากฏเนื้อหาความฝันหรือคำทำนายจากอรรถกถามหาสุบินชาดกบางข้อ และแนวคิดที่กล่าวถึงอนาคตบ้านเมืองหรือทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองที่ซึ่งหวังผลที่จะเตือนสติแนะแนวทางการประพฤติด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างสรรค์วรรณกรรมปัจจุบันและข้อเขียนที่อธิบายอรรถกถามหาสุบินชาดก ที่เชื่อมโยงข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ของสังคม เพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้เนื้อหาของอรรถกถามหาสุบินชาดกสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมร่วมสมัย นอกจากนี้อรรถกถามหาสุบินชาดกสามารถทำความเข้าใจผ่านการตีความได้ 2 ระดับได้แก่ การตีความแบบโลกียะเพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกเพื่อดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในสังคม และการตีความแบบโลกุตตระที่ทำให้เห็นถึงความเป็นอนิจจลักษณะ อันเป็นหนทางนำไปสู่นิพพานหรือการหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยหลักธรรมสำคัญที่ปรากฏคือ กรรมและอนิจจัง ยังปรากฏอยู่ในพุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศลสำนวนต่าง ๆ ด้วย การสร้างสรรค์เรื่องพุทธทำนายความฝันพระเจ้าปเสนทิโกศลดังกล่าวจึงได้ตอกย้ำความสำคัญของอรรถกถามหาสุบินชาดกในฐานะที่เป็นต้นทางของการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจน