Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาสารัตถะและความสำคัญของศาสตร์แห่งอัญมณีอินเดียโบราณจากงานนิพนธ์ว่าด้วยศาสตร์แห่งอัญมณีที่บรรจุแทรกในวรรณคดีสันสกฤตประเภทศาสตร์ 5 เรื่อง ได้แก่ อรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะ, พฤหัตสํหิตาของวราหมิหิระ, ยุกติกัลปตรุของโภชะ, มานโสลลาสะของโสเมศวระ และศุกรนีติสาระของศุกราจารย์ วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ การศึกษาสารัตถะ โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลปฐมภูมิ 5 เรื่อง กับงานนิพนธ์ว่าด้วยศาสตร์แห่งอัญมณีที่เป็นเรื่องเดี่ยว ส่วนที่สองคือการศึกษาความสำคัญของศาสตร์แห่งอัญมณีในบริบทของสังคมและวัฒนธรรม โดยพิจารณาจากข้อความตัวบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องแทรกว่าด้วยศาสตร์แห่งอัญมณีกับงานนิพนธ์เรื่องหลัก รวมทั้งพิจารณาบทบาทของศาสตร์แห่งอัญมณีที่ปรากฏในงานนิพนธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารัตถะของศาสตร์แห่งอัญมณีอินเดียโบราณ คือ การถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบและจำแนกสิ่งมีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัญมณี นำไปสู่การประเมินมูลค่าและคุณค่า เพื่อตอบสนองความมั่นคงของราชอาณาจักร องค์ความรู้เรื่องการตรวจสอบอัญมณีจำแนกได้เป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดการตรวจสอบอัญมณี หมวดการประเมินค่าอัญมณี หมวดการกำหนดราคาอัญมณี และหมวดเบ็ดเตล็ดซึ่งครอบคลุมศิลปะการทำอัญมณีตลอดจนความเชื่อ และวัฒนธรรมเกี่ยวกับการใช้อัญมณี เนื้อหาสาระของตำราอัญมณีประเภทเรื่องแทรกที่นำมาศึกษาครั้งนี้ โดยมากพ้องกับตำราอัญมณีประเภทเรื่องเดี่ยว สิ่งที่แตกต่างกันคือรายละเอียดปลีกย่อยและบริบทของการนำไปใช้ซึ่งมุ่งในแวดวงของราชสำนัก ส่วนความสำคัญของศาสตร์แห่งอัญมณีอินเดียโบราณนั้นแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านภาษาและวรรณคดี และด้านการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่า ศาสตร์แห่งอัญมณีอินเดียโบราณมีคุณูปการต่อสังคมในวงกว้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงมีการสืบทอด การผลิตช้า การดัดแปลง และการอ้างอิงศาสตร์แห่งอัญมณีอินเดียในงานนิพนธ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน