Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการนำเสนอปัญหาเยาวชนและปัญหาสังคมในวรรณกรรมเยาวชนไทยร่วมสมัยระหว่าง พ.ศ. 2550 - 2559 ได้แก่ บ้านต่างสายเลือด (2552), ปลายฝน (2553), หัวใจของช้าง (2557) ของอรเกษม รอดสุทธิ, โรงเรียนริมทะเล (2553) ของสาคร พูลสุข, ตามหาโจตัน (2554) ของคามิน คมนีย์, เอ้อระเหยลอยคอ (2555) ของจันทรา รัศมีทอง, เซนในสวน (2557) ของจักษณ์ จันทร, ร่มไม้หนึ่งซึ่งเราตัวเล็ก (2557) ของปันนารีย์ และ เสียงเดือนในเสียงหวูดรถไฟ (2557) ของกร ศิริวัฒโน โดยวิเคราะห์ผ่านองค์ประกอบวรรณกรรม อาทิ ตัวละคร ฉาก แก่นเรื่อง โครงเรื่อง และศึกษาบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับการสะท้อนประเด็นปัญหา จากการศึกษาพบว่าผู้ประพันธ์ตัวบทคัดสรรนำเสนอภาพเยาวชนผู้เป็นตัวละครเอกที่ประสบปัญหาจากครอบครัวและสังคมโดยปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาในลักษณะที่รุนแรงหรือคุกคามชีวิตของตัวละคร อาทิ ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ปัญหาความอ้างว้าง ปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาบริโภคนิยม ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมในบริบทสังคมไทยร่วมสมัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครอบครัว ภาพความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว อาทิ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวต่างสายเลือด และครอบครัวอุปถัมภ์ ส่งผลให้เยาวชนผู้เป็นตัวละครเอกได้รับผลกระทบจากปัญหาผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอกกับตัวละครอื่นๆ รอบตัว ได้แก่ พ่อแม่ เพื่อน และครู แสดงให้เห็นอิทธิพลของสังคมที่มีต่อเยาวชนผู้เป็นตัวละครเอก ทั้งนี้ผู้ประพันธ์นำเสนอแนวทางออกของปัญหาโดยนำเสนอให้เยาวชนผู้เป็นตัวละครเอกเรียนรู้และปรับตัว อาทิ การยอมรับและเผชิญหน้ากับความเป็นจริง การให้ความสำคัญกับการศึกษา การประนีประนอม และการปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้กับผู้อ่าน