Abstract:
ละครซ้อนละคร (play-within-a-play) เป็นกลวิธีการประพันธ์ที่ปรากฎในบทละครสันสกฤตเรื่องปริยทรรศิกา (Priyadrska) และพาลรามายณะ (Balaramayana) นักวรรณคดีสันสกฤตจำกัดความละครซ้อนในละครสันสกฤตแตกต่างกัน วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาลักษณะเฉพาะของละครซ้อนละคนในละครสันสกฤตทั้งสองเรื่อง พร้อมทั้งศึกษาบทบาทและความสำคัญที่ละครซ้อนแต่ละเรื่องมีต่อละครเรื่องหลัก ผลการศึกษาพบว่า มีคำอธิบาย "ละครซ้อนละคร" ในทฤษฎีการละครสันสกฤตเรื่อง สาหิตยทรรปณะ (Sahityadarpana) เรียกว่า ครรภางกะ (garbhanka) คือ ละครเล็กที่แทรกอยู่ในละครใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง มีบทเกริ่นนำ เนื่อเรื่อง และตอนจบของตนเอง จากนิยายดังกล่าวนำมาวิเคราะห์ละครซ้อนละครในปริยทรรศิกาและพาลรามายณะ ได้ผลว่า ละครทั้งสองเรื่องมีบทเกริ่นนำของตนเอง เรื่องปริทรรศิกามีนายโรงแนะนำละครซ้อนชื่อ "อุทัยนจริต" (Udayanacarita) เนื้อเรื่องแสดงความรักระหว่างพระเจ้าอุทัยน์ (วัตสราช) กับเทวีวาสวทัตตา แต่พระเจ้าอุทัยน์ที่ปลอมตนมาเล่นละครเป็นตนเองพลอดรักกับนางเอกจนเทวีวาสวทัตตาไม่อาจทนดูละครต่อได้จึ่งสั่งให้หยุดเล่น ละคนซ้อนเรื่องนี้จึ่งไม่มีตอนจบ ส่วนละครซ้อนละครในพาลรามายณะ ชื่อว่า "สีตาสวยัมวระ" (Sitasvayamvara) การเลือกคู่ของนางสีดา มีบทเกริ่นนำ เนื้อเรื่องเป็นการประลองยกธนูพระศิวะ พระรามสามารถยกได้พร้อมหักธนูและจัดพิธีอภิเษกสมรส ในเรื่องนี้มีบทอวยพรตอนจบเรื่อง ซึ่งสอดคล้องตามคำอธิบายในสาหิตยทรรปณะ บทบาทและความสำคัญของละครซ้อนต่อละครเรื่องหลัก ในบริบทของการพัฒนาปมเรื่อง ทำให้เรื่องเข้มข้นขึ้น ส่วนในบริบทการพัฒนารสและภาวะ ละครซ้อนเสริมให้ผู้ชมรับรู้รสซ้อนกัน แบ่งเป็นสองขั้น คือ รสของผู้ชมในละคร (ตัวละครที่เล่นเป็นผู้ชม) และรสของผู้ชมภายนอก (ผู้ชมจริง)