Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษารูปประโยค องค์ประกอบ และความหมายของประโยคแสดงการดำรงอยู่ในภาษาจีนกลาง และการเปรียบเทียบกับภาษาไทย เพื่อให้ผู้เรียนภาษาจีนชาวไทยรู้จักและเข้าใจประโยคแสดงการดำรงอยู่ในภาษาจีนกลางอย่างถูกต้อง ผลการศึกษาพบว่า การสื่อความหมายแสดงการดำรงอยู่มี 2 ลักษณะ ลักษณะที่หนึ่ง คือ “สถานที่หรือเวลาหนึ่งมีสิ่งบางสิ่งดำรงอยู่ ปรากฏขึ้น หรือหายไป” หรือลักษณะที่สอง คือ “มีสิ่งบางสิ่งดำรงอยู่ ปรากฏขึ้น หรือหายไป ณ สถานที่หนึ่ง” ซึ่งโครงสร้างของประโยคแสดงการดำรงอยู่ในภาษาจีนกลาง (存现句) จะมีลำดับคำตามการแสดงความหมายในลักษณะที่หนึ่งเท่านั้น หากจะแสดงความหมายตามลักษณะที่สองจะอยู่รูปประโยคอื่นที่สื่อความหมายเดียวกัน ประโยคที่สื่อความหมายแสดงการดำรงอยู่ในภาษาไทยใช้โครงสร้าง “มี..อยู่” มาเทียบเคียงกับการแสดงความหมายดำรงอยู่ได้ในทั้ง 2 ลักษณะ ต่างกันที่ตำแหน่งของวลีบอกสถานที่เท่านั้น ประโยคแสดงการดำรงอยู่แบ่งประเภทได้เป็น ประโยคแสดงการมีอยู่ (存在) ประโยคแสดงการปรากฏขึ้น (出现) และประโยคแสดงการหายไป (消失) ซึ่งประโยคแสดงการมีอยู่จะสามารถสื่อความได้ในรูปแบบแสดงสภาวะ (静态) เท่านั้น ส่วนประโยคแสดงการปรากฏขึ้นและประโยคแสดงการหายไปสามารถสื่อความได้ทั้งในรูปแบบแสดงสภาวะและรูปแบบแสดงการเคลื่อนไหว (动态) ภาษาไทยสามารถใช้กริยา “มี” คำเดียวโดยละคำว่า “อยู่” ได้ในรูปแสดงการมีอยู่โดยตรง และสามารถใช้กริยา “เกิด” หรือ “ปรากฏ” ในประโยคแสดงการแสดงการปรากฏขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้าง “มี...อยู่” ก็ได้ นอกจากนี้ ประโยคแสดงการดำรงอยู่ที่ใช้คำช่วย “过” หรือ “เคย” เรียกได้ว่าเป็น “ประโยคแสดงประสบการณ์การดำรงอยู่”