Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตุประสงค์เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ของสมณะและความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาของญี่ปุ่นในนิทานเรื่องเล่า อุจิฌูอิ โมะโนะงะตะริ ที่มีสมณะเป็นตัวละครหลัก ผลการศึกษาพบว่า ตัวละครสมณะมีภาพลักษณ์หลากหลายมีทั้งภาพลักษณ์ด้านบวกเช่น เป็นบุคคลผู้มีความเชื่อถือและยึดมั่นศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่และปฏิบัติตามคำสอนทางพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดและด้านลบ เช่น การประพฤติผิดศีลของพระโพธิสัตว์ นอกจากนี้ยังมีภาพลักษณ์ด้านอื่น ๆ เช่น เป็นบุคคลผู้ที่มีพฤติกรรมแสดงออกไม่เด่นชัดว่าเป็นผู้ประกอบกรรมดีหรือชั่วเพราะมีภาพลักษณ์ทั้งด้านบวกและลบในเรื่องเดียวกัน ส่วนในประเด็นความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่พบในนิทานเรื่องเล่า อุจิฌูอิ โมะโนะงะตะริ จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในพุทธศาสนามหายานในนิกายต่าง ๆ ที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาในสมัยเฮอันจนถึงสมัยคะมะกุระตอนต้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงที่มีการแต่งและรวบรวมนิทานเรื่องเล่า อุจิฌูอิ โมะโนะงะตะริ ลักษณะของความเชื่อสะท้อนออกมาในเชิงของวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อเรื่องการขอฝน การสวดมนต์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยเป็นการใช้พุทธศาสนาเพื่อหวังผลในชาติปัจจุบันและชาติหน้ามากกว่าความเชื่อที่เป็นแก่นแท้ของปรัชญาพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นสากล ซึ่งสอนให้ผู้คนเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม การกระทำความดีละเว้นความชั่ว การละอายและเกรงกลัวต่อบาป ความเชื่อส่วนใหญ่ที่พบในนิทานเป็นความเชื่อของสมณะในพุทธศาสนานิกายเท็นดะอิ (Tendai) นิกายฌิงงน (Shingon mikkyō) และนิกายโจโดะฌู (Jōdo) นอกจากนี้ยังพบความเชื่อในนิกายโจโดะฌินฌู (Jōdo Shin) นิกายฮซโซ (Hossō) นิกายคุฌะ (Kusha) และความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีการผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมในลัทธิชินโตแบบฌุเง็นโด (Shugendō) และอมเมียวโด (Onmyōdō) อีกด้วย