Abstract:
ในปัจจุบันไกลโฟเซตถูกนำมาใช้เป็นสารกำจัดวัชพืชในแปลงเกษตรมากขึ้น จึงก่อให้เกิดการสะสมของไกลโฟเซตในแหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตร หากผู้บริโภคได้รับไกลโฟเซตเข้าสู่ร่างกายจากแหล่งน้ำเหล่านี้ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในอนาคต การตรวจวัดไกลโฟเซตในแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญ แต่ปริมาณ ไกลโฟเซตที่พบในแหล่งน้ำมีปริมาณค่อนข้างต่ำ จึงต้องใช้เทคนิคการตรวจวัดที่มีความว่องไวสูง เช่น Gas Chromatography ,High Performance Liquid Chromatography เป็นต้น แต่เทคนิคเหล่านี้ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ และยากต่อการนำมาตรวจวัดในสถานที่จริง ดังนั้น ในงานวิจัยนี้จึงศึกษาพัฒนาวิธีการตรวจวัดไกลโฟเซตให้ง่ายขึ้น โดยมุ่งหวังผลการตรวจวัดไกลโฟเซตที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือการตรวจวัดที่ยุ่งยาก สามารถนำไปใช้ตรวจวัดได้ในสถานที่จริง และสามารถเห็นผล การตรวจวัดได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของไกลโฟเซตกับโลหะ และสารประกอบโลหะที่เลือกใช้ ได้แก่ FeCl₃, FeSO₄·7H₂O, NiSO₄·6H₂O, CuSO₄·5H₂O, CoCl₂ และ CaCl₂·₂H₂O ในการทดลองจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นการศึกษาการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนระหว่าง ไกลโฟเซตที่ความเข้มข้น 2 ระดับ คือ 1.5x10⁻³ M และ 5.9x10⁻³ M กับโลหะ ณ ค่าพีเอชที่เหมาะสม ในอัตราส่วนโดยโมลของไกลโฟเซตต่อโลหะเท่ากับ 1:1.67 และ 1:5 และในส่วนที่สองเป็นการศึกษาทำการศึกษาการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของไกลโฟเซตกับโลหะที่ความเข้มข้นของไกลโฟเซต และโลหะเท่ากับ 0.4 M และใช้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ในการปรับพีเอช จากการทดลองพบว่า สภาวะการทดลอง ณ ความเข้มข้นของไกลโฟเซต 1.5x10⁻³ M และ 5.9x10⁻³ M ไกลโฟเซตไม่สามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับโลหะได้ แต่ในการทดลองที่ความเข้มข้นไกลโฟเซตเท่ากับ 0.4 M สามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนได้ดีกับโลหะ ทั้งในรูปสารประกอบที่เป็นของแข็ง ซึ่งเกิดกับแคลเซียม, ไอร์ออน (II) และไอร์ออน (III) และสารประกอบที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเกิดกับคอปเปอร์, นิกเกิล และโคบอลต์ โดยสารประกอบที่ละลายน้ำได้จะให้สีที่แตกต่างจากสีของโลหะนั้นๆ และสามารถตรวจวัดค่าการดูดกลืนแสงจากสีที่เกิดขึ้นด้วยเครื่อง ยูวี-วิสิเบิลสเปกโทรโฟโตมิเตอร์