Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ภาพความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในวรรณกรรมเยาวชน เรื่อง นิฮนจิน โอะอิน (1932) ของโอะซะระงิ จิโร และเรื่อง นิตโต โนะ โบเก็นโอ (1937) ของมินะมิ โยอิชิโร โดยเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่นในทศวรรษ 1930 จากการศึกษาพบว่า วรรณกรรมทั้งสองเรื่องนำเสนอภาพความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในลักษณะที่ญี่ปุ่นเป็นมิตรกับไทยหรือสยาม และร่วมมือกันปกป้องสยามจากการรุกรานของศัตรูต่างชาติ ซึ่งมีนัยยะหมายถึงการเข้ามารุกรานแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศนักล่าอาณานิคมตะวันตก ภาพความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นที่ปรากฏในเรื่องสะท้อนถึงทัศนะของญี่ปุ่นต่อไทยในช่วงทศวรรษ 1930 ที่คล้ายคลึงกัน คือถูกกำหนดด้วยแนวคิดอาณานิคมนิยมแบบญี่ปุ่น หรือ “นันฌินรน” แนวคิดขยายดินแดนลงสู่ใต้ที่ส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นปรารถนาจะออกไปแสวงโชค ตั้งรกรากทำมากินในต่างแดน โดยเรื่อง นิฮนจิน โอะอิน นำเสนอภาพความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ส่วนเรื่อง นิตโต โนะ โบเก็นโอ สะท้อนภาพญี่ปุ่นกับสยามเป็นมิตรกันแบบพี่น้อง โดยญี่ปุ่นเป็นเสมือนพี่ผู้ให้ความช่วยเหลือปกป้องสยามจากการเอาเปรียบของชาติตะวันตก เน้นความร่วมมือกันเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของสองประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่ง วรรณกรรมทั้งสองเรื่องก็นำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ญี่ปุ่นที่เหนือกว่าสยาม อันหมายถึงความพยายามในการครอบงำทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ประเทศเจ้าอาณานิคมมักใช้อ้างความชอบธรรมในการจะเข้าไปบุกเบิกครอบครองพื้นที่ แสวงหาผลประโยชน์ในดินแดนอื่น นอกจากนั้น ในฐานะวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมทั้ง 2 เรื่องยังมีบทบาทในการปลูกฝังแนวคิดอาณานิคมนิยมที่ถูกสอดแทรก ตอกย้ำอยู่ในตัวบทให้กับผู้อ่านซึ่งเป็นเยาวชนอีกด้วย