Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์การเข้ารับการรักษาการมีบุตรยาก ความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคอื่นๆ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้ารับการรักษาการมีบุตรยาก กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีวัยเจริญพันธุ์อายุ 25-44 ปี สมรสเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป สมรสมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ไม่เคยมีบุตรและมีความต้องการมีบุตร มีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรสอย่างสม่ำเสมอ (4-6 ครั้งต่อสัปดาห์) ไม่คุมกำเนิดในระยะ 1 ปีขึ้นไป โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยเจริญพันธุ์พ.ศ. 2552 ขนาดตัวอย่าง 278 ราย และข้อมูลจากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและความอยู่ดีมีสุขในบริบทสังคมสูงวัย พ.ศ. 2559 ขนาดตัวอย่าง 130 ราย สำหรับการวิเคราะห์เชิงปริมาณ นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะเดียวกันอีก 28 ราย สำหรับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า สตรีที่มีบุตรยากส่วนใหญ่ไม่เข้ารับการรักษาและมีแนวโน้มที่จะไม่เข้ารับการรักษาสูงขึ้น จากร้อยละ 55.9 ในพ.ศ. 2552 เพิ่มเป็นร้อยละ 65.5 ในพ.ศ. 2559 และพบว่า ในปี พ.ศ. 2552 พบความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคอื่นๆ ในขณะที่พ.ศ. 2559 ไม่พบความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตามพบว่าในปีพ.ศ. 2552 สตรีที่มีอายุแรกสมรส จำนวนปีที่สมรส จำนวนบุตรที่ต้องการ การวางแผนครอบครัว ระดับการศึกษา การทำงาน และการครอบครองที่อยู่อาศัยที่ต่างกันจะเข้ารับการรักษาแตกต่างกันระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคอื่นๆ ในขณะที่ ในปี พ.ศ. 2559 พบว่า สตรีที่มีอายุแรกสมรสแตกต่างกันเท่านั้น ที่จะเข้ารับการรักษาต่างกันระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคอื่นๆและเมื่อพิจารณาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้ารับการรักษา พบว่า ในปี พ.ศ. 2552 ปัจจัยด้านอายุแรกสมรส จำนวนปีที่สมรส ภาค ระดับการศึกษา การทำงาน และการครอบครองที่อยู่อาศัย มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเข้ารับการรักษาการมีบุตรยาก ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ในขณะที่ในปี พ.ศ. 2559 พบว่า จำนวนปีที่สมรส และการวางแผนครอบครัวเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับการเข้ารับการรักษาการมีบุตรยาก ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า สตรีที่มีบุตรยากที่เข้ารับการรักษาจะให้ความสำคัญกับการวางแผนครอบครัว และจำนวนปีที่สมรส ในขณะที่ กลุ่มที่ไม่เข้ารับการรักษาจะเห็นคุณค่าการมีบุตรแต่ไม่เห็นความสำคัญของวางแผนครอบครัว อายุแรกสมรส และจำนวนปีที่สมรส อีกทั้งยังพบว่าสตรีที่มีบุตรยาก ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายและลักษณะของภาวะการมีบุตรยาก ทำให้ไม่เข้ารับการรักษาการมีบุตรยากในเวลาที่เหมาะสม