Abstract:
การศึกษาเกี่ยวกับต้นทุนของเด็กนั้นดำเนินการได้ทั้งในด้านมหภาคและจุลภาคและต้นทุนของเด็กนั้นจะมีทั้งส่วนที่เป็นต้นทุนส่วนสังคม และต้นทุนส่วนบุคคล นอกจากนั้นยังมีทั้งที่คิดเป็นตัวเงินได้ และที่ไม่อาจพิจารณาเป็นตัวเงินได้ การวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ต้นทุนของเด็กในเชิงจุลภาค เฉพาะที่เป็นต้นทุนส่วนบุคคล (ของครัวเรือน) และที่วัดเป็นตัวเงินได้เท่านั้น การวิจัยนี้ได้สร้างแบบจำลองขึ้นอธิบายพฤติกรรมที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของครัวเรือน การเจริญพันธุ์ (จำนวนบุตร) และค่าใช้จ่ายของบุตร โดยประยุกต์แนวความคิดของทฤษฎีว่าด้วยการบริโภคและการผลิตในครัวเรือน ในการวิจัยเชิงประจักษ์ได้ทดสอบแบบจำลองที่สร้างขึ้นนั้น โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการวิจัยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตร 2519 สำหรับตัวอย่างของประชากรในเขตกรุงเทพมหานคาที่สตรีมีบุตรอายุไม่เกิน 7 ปี จำนวน 908 ครัวเรือน การทดสอบได้ใช้วิธีทางเศรษฐมิติเบื้องต้น คือ ordinary least squares ข้อค้นพบที่สำคัญก็คือ รายได้ของครัวเรือน และการศึกษาของบิดาและมารดา มีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดค่าใช้จ่ายของบุตรแต่ละคน ส่วนจำนวนบุตรนั้นจะขึ้นอยู่กับการศึกษาของมารดา และอายุของมารดาเป็นสำคัญ และในการศึกษานี้ไม่ปรากฏความสัมพันธ์ในเชิงสถิติระหว่างจำนวนบุตรกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรแต่ละคน