Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแหล่งความเครียดและการรับรู้ระดับความเครียดของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตปริญญาตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 452 คนที่รับรู้ว่าตนเองมีความเครียดเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป DASS-Stress Scale และแบบสอบถามแหล่งความเครียด นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความแปรปรวนสามทาง (Three-way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า นิสิตปริญญาตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการรับรู้ระดับความเครียดในแหล่งความเครียดด้านการเรียนสูงที่สุด รองลงมาคือด้านสภาวะทางสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านเรื่องส่วนตัว ด้านครอบครัว และด้านปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและบุคคลอื่น ตามลำดับ และผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนสามทางของแหล่งความเครียดระหว่างเพศ ชั้นปี และกลุ่มคณะ พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนี้ 1. แหล่งความเครียดด้านการเรียน พบว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศ ชั้นปี และกลุ่มคณะ มีการรับรู้ระดับความเครียดในแหล่งความเครียดด้านการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 2. แหล่งความเครียดด้านเรื่องส่วนตัว พบว่า เพศ และชั้นปีที่ต่างกันมีการรับรู้ระดับความเครียดในแหล่งความเครียดด้านเรื่องส่วนตัวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 3. แหล่งความเครียดด้านครอบครัว พบว่า ชั้นปีที่ต่างกัน มีการรับรู้ระดับความเครียดในแหล่งความเครียดด้านครอบครัวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 4. แหล่งความเครียดด้านเศรษฐกิจ พบว่า ชั้นปีที่ต่างกันมีการรับรู้ระดับความเครียดในแหล่งความเครียดด้านเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. แหล่งความเครียดด้านสภาวะทางสังคม พบว่า เพศที่ต่างกันมีการรับรู้ระดับความเครียดในแหล่งความเครียดด้านสภาวะทางสังคมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 6. แหล่งความเครียดด้านปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและบุคคลอื่น พบว่า เพศ และชั้นปีที่ต่างกัน มีการรับรู้ระดับความเครียดในแหล่งความเครียดด้านปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและบุคคลอื่น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01