Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและทำการรวบรวมจัดทำและวิเคราะห์รูปแบบจำลองด้านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกับการเป็นเมืองในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนา รูปแบบจำลองในการนำมาอธิบายปรากฏการณ์การเป็นเมืองในประเทศไทย การวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ในขั้นตอนแรกใช้วิธีวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง โดยใช้บัญชีรายได้ประชาชาติ และบัญชีผลิตภัณฑ์มาแบ่งแยกประเภทออกเป็น 8 ประเภทตามระบบของ Interindustry และทำการวิเคราะห์แบบแผนความจำเริญเติบโต ด้านอุปสงค์ และอุปทาน ขั้นตอนต่อมา แบบจำลองที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นแบบจำลองที่เรียกว่า แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป ประกอบด้วยกลุ่มสมการ 6 กลุ่มดังนี้ กลุ่มสมการค่าจ้าง กลุ่มสมาการราคา กลุ่มสมการรายได้ กลุ่มสมการอุปสงค์ กลุ่มสมการการผลิต และกลุ่มสมการในการทำให้ตลาดอยู่ในภาวะสมดุล ผลของการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบของขบวนการผลิตของภาพอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นภาพลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของการมองการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง และพบว่าภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่มีสัดส่วนของผลผลิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติลดลง อันเนื่องมาจากรูปแบบอุปสงค์ และสินค้าขั้นกลาง ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการสัดส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาคการค้าระหว่างประเทศและเทคโนโลยี สำหรับผลการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างต่อการเป็นเมืองในประเทศไทยพบว่า สาเหตุการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์ต่อสินค้าปฐม การเพิ่มขึ้นในค่าความยืดหยุ่นของการทดแทนสินค้านำเข้าต่อสินค้าผลิตในประเทศของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการเพิ่มขึ้นในอัตราภาษีรายได้ มีผลให้ระดับความเป็นเมืองเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน ส่วนการเพิ่มขึ้นในค่า neutral technical change ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีผลให้ระดับความเป็นเมืองลดลงเมื่อเทียบกับปีฐาน