Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเอง ของผู้ที่มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลองค์รวม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายซึ่งได้รับการคัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์คุณสมบัติ จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ โปรแกรมการพยาบาลองค์รวม ซึ่งผู้ศึกษาพัฒนาขึ้นประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก คือ สัมพันธภาพบำบัด การส่งเสริมความมีคุณค่าในตนเอง การให้ความรู้ด้านการดำรงชีวิตในครอบครัวและในชุมชน การฝึกทักษะการผ่อนคลาย และการส่งเสริมความผาสุกทางจิตวิญญาณ โดยผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเอง มีค่าความเที่ยงของเครื่องมือ เท่ากับ .93 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (Dependent t-test) สรุปผลการศึกษา คะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ที่มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ทั้งโดยรวมและรายด้าน ได้แก่ การดูแลตนเองด้านร่างกาย การพัฒนาการรู้จักตนเอง การติดต่อสื่อสารการใช้เวลา การเผชิญปัญหา การพัฒนาระบบสนับสนุนทางสังคม และด้านจิตวิญญาณ หลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลองค์รวม สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการพยาบาลองค์รวม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05