Abstract:
โครงการศึกษาอิสระเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเภท ก่อนและหลังการใช้โปรแกรมสนับนสนุนและให้ความรู้ที่บ้าน กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยจิตเภทในชุมชน อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งได้รับการคัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนด จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ โปรแกรมสนับสนุนและให้ความรู้ที่บ้าน ซึ่งผู้ศึกษาได้พัฒนาขึ้นและได้รับการตรวจความเชิงเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน โปรแกรมนี้มีเนื้อหาครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมหลักๆ คือ การสร้างสัมพันธภาพการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลหลัก และการให้ความรู้จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน เช่น โรคจิตเภท การรักษาด้วยยาทางจิต การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตครอบครัว และ การป้องกันการกลับเป็นซ้ำเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมดูแลตนเอง ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นอัลฟาของครอนบาค เท่ากับ .86 วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติทดสอบที (Dependent t-test) ผลการศึกษาที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ คะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยจิตเภท หลังได้รับโปรแกรมสนับสนุนและให้ความรู้ที่บ้าน สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมสนับสนุนและให้ความรู้ที่บ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .05 ทั้งพฤติกรรมการดูแลตนเองโดยรวมและรายด้าน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการใช้ยาทางจิต ด้านการดูแลสุขภาพจิต ด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และด้านการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ (t =-9.140, -4.467, -7.581, -5.253, และ -3.266 ตามลำดับ)