Abstract:
การศึกษาการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กรณีศึกษา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาระดับประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกรมในการตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และ 2) เพื่อศึกษาและจัดลำดับปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญ (Key Success Factors) ของกรมในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสานทั้งการวิจัยเชิงปริมาณด้วยแบบสอบจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 188 คน วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเชิงพรรณนาด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างที่มีบทบาทในการจัดทำแผนงานโครงการของกรม จำนวน 9 คน ซึ่งประกอบด้วยประเด็นคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการจัดทำข้อเสนอโครงการและปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจกรมเพื่อตอบสนองต่อแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหรือพัฒนาระบบการบริหารงานภายในของกรมให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศได้
ผลการวิจัยพบว่า จากข้อมูลเชิงปริมาณ กรมมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนภารกิจผ่านการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อตอบสนองต่อแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในระดับสูงทั้ง 5 ประเด็นของแผนแม่บทฯ ที่กรมมีภารกิจเกี่ยวข้อง ในขณะที่ประสิทธิภาพของปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญในปัจจุบันของของกรม พบว่า ทุกปัจจัยมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้ว่ามีประสิทธิภาพในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเอกสาร พบว่า ในการจัดทำข้อเสนอโครงการ ไม่มีใครงการใดที่สามารถอธิบายได้ถึงสัดส่วนในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดของแผนแม่บทฯ (Contribution) ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวคิดในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านแผนระดับที่ 3 รวมทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญ พบว่า ทุกปัจจัยยังมีปัญหาอุปสรรคในหลายส่วนที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามข้างต้น จึงอาจไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ประสิทธิภาพที่แท้จริงของกรมอยู่ในระดับใด ทั้งนี้ พบว่า ผลการจัดลำดับปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญ 3 ลำดับแรก คือ ปัจจัยความรู้ความสามารถ (Skill) มีความสำคัญเป็นลำดับแรกเท่ากับปัจจัยบุคลากร (Staff) รองลงมาเป็นปัจจัยค่านิยมร่วม (Shared Values) และปัจจัยกลยุทธ์ (Strategy) ตามลำดับ