Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความต้องการของงาน ระดับทรัพยากรในงานและระดับภาวะหมดไฟในการทำงาน และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ความต้องการของงานและทรัพยากรในงานกับภาวะหมดไฟในการทำงานของพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรณีศึกษาสายงานการไฟฟ้าภาค 3 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในสังกัดสายงานการไฟฟ้าภาค 3 จำนวน 1,010 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม และนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย 2 กลุ่มตัวอย่าง (Independent t-test) การวิเคราะห์เปรียบเทียบความแปรปรวน (One-way ANOVA) และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s Correlation) ผลการศึกษา พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างมีระดับความต้องการของงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีระดับทรัพยากรในงานโดยรวมอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานต่ำ ซึ่งเมื่อพิจารณาภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นรายด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานต่ำ ทั้ง 3 ด้าน ; ด้านความรู้สึกอ่อนล้า ด้านการเมินเฉย และด้านการลดคุณค่าความสำเร็จในตนเอง 2) ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ อายุ ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ระดับตำแหน่ง 3) ความต้องการของงานโดยรวมและรายด้านมีความสัมพันธ์ทางบวกกับภาวะหมดไฟในการทำงาน 4) ทรัพยากรในงานโดยรวมและรายด้านมีความสัมพันธ์ทางลบกับภาวะหมดไฟในการทำงาน