Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับตัวขององค์การภาครัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ โดยเลือกกรณีศึกษา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กำลังได้รับผลกระทบในการดำเนินภารกิจในการให้บริการสาธารณะ จากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา อย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำเป็นต้องมีการปรับตัวองค์การตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากต่อองค์การภาครัฐ เนื่องจากองค์การภาครัฐมีข้อจำกัดหลายประการ ส่งผลให้การดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์การเพื่อการปรับตัวเกิดขึ้นได้ช้า ปรับตัวได้ไม่ทันการณ์ โดยผู้วิจัยจะมุ่งศึกษาถึงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ ที่ส่งอิทธิพลต่อบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้จำเป็นต้องปรับตัวมีลักษณะเป็นอย่างไร รวมไปถึงปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์การและปรับตัวได้ทันตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยยังสามารถสร้างสมดุลระหว่างการยังคงสร้างผลประกอบการจำนวนมหาศาลจากการดำเนินงานให้กับภาครัฐ แม้จะมีการเก็บค่าบริการได้ต่ำ การสร้างความสามารถขององค์การให้สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ แต่ก็ยังสามารถยึดหลักการให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีวัตถุประสงค์ในการ ศึกษาสภาพแวดล้อมองค์การของที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวขององค์การและถอดบทเรียนจากวิธีการในการปรับตัวของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นองค์การประเภทรัฐวิสาหกิจให้สามารถ อยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและทันต่อสภาวะการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำไปเป็นแนวทางต่อยอดในการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจประเภทอื่นต่อไป โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้วิธีการวิจัยเชิงเอกสารในเบื้องต้นแล้ว ผู้วิจัยจะเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) เพื่อให้เสริมข้อมูลให้มีความรอบด้านและครอบคลุม จากการศึกษาพบว่าสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินงานขององค์การ ได้แก่ ปัจจัยภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมแบบทั่วไปและเฉพาะงาน และปัจจัยภายในองค์การ จากสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้องค์การต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์การเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยการเปลี่ยนแปลงองค์การนั้นจะต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นเป็นตอน โดยต้องปฏิบัติแต่ละขั้นตอนให้สำเร็จ ก่อนที่จะเดินหน้าไปยังขั้นตอนต่อไป โดยไม่สามารถลัดขั้นตอนได้ จนสิ้นสุดกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงที่องค์การตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งการที่จะทำให้แต่ละขั้นตอนสำเร็จได้นั้น จะประกอบไปด้วยปัจจัยความสำเร็จที่แตกต่างกัน ได้แก่ ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ปัจจัยในด้านความพร้อมของทรัพยากร ที่องค์การปรับใช้ให้กลายเป็นโอกาสและเป็นจุดแข็งในการสนับสนุนการปรับตัวขององค์การ ปัจจัยทางด้านการบริหารที่ส่งผลให้องค์การสามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จได้แก่ ภาวะความเป็นผู้นำ การจูงใจ ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ ทักษะในการวางแผนและการกำหนดตัวชี้วัด และการสื่อสารในองค์การที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในการเปลี่ยนแปลงองค์การและกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์การ