Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์มาตรฐานการจ้างงานคนพิการในระดับสากล วิเคราะห์สถานการณ์การจ้างงานคนพิการในประเทศไทย และสังเคราะห์แนวทางการจ้างงานคนพิการในประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลผ่าน “แนวคิดวงจรการบริหารจัดการภาครัฐที่มีพลเมืองตื่นรู้เป็นศูนย์กลาง” ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวได้เสนอแนะว่าบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักต่อการดำเนินการ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีและต้องสอดประสานกันทั้งสามฝ่ายอย่างสมดุลจึงจะเกิดการบรรลุผลได้อย่างยั่งยืน กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยภาครัฐ ซึ่งได้แก่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมการจัดหางาน รวมถึงผู้แทนจากองค์กร/สถานประกอบการต่าง ๆ ในฐานะภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรคนพิการในฐานภาคประชาสังคม ซึ่งได้แก่ องค์กรตัวแทน 7 ประเภทความพิการ องค์กรเพื่อคนพิการ และองค์กรคนพิการวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจะใช้ “แบบตรวจสอบรายการเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการตามมาตรฐานสากล” และ”การสัมภาษณ์เชิงลึก” เพื่อนำมาวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า มาตรฐานการจ้างงานคนพิการในระดับสากล ภาครัฐต้องมีบทบาทในการประกาศใช้มาตรการ ดำเนินการขั้นพื้นฐาน สร้างเครือข่ายและเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม สถานประกอบการต้องนำแนวทางของรัฐไปวางแผน ดำเนินการ และประเมินผล ส่วนองค์กรคนพิการต้องมีความตระหนักรู้ต่อมาตรการของประเทศและพัฒนาตนเองให้มีความพร้อม สำหรับสถานการณ์การจ้างงานคนพิการของประเทศไทยยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย ยังไม่เกิดความเสมอภาคและโอกาสในการจ้างงานคนพิการ ขาดความครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่ และความครอบคลุมทุกประเภทความพิการ และเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 4.05 ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่แต่ละภาคส่วนยังปฎิบัติตามบทบาทของตนเองไม่ครบถ้วน และปัญหาเรื่องการบูรณาการการทำงานร่วมกันที่ยังขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ดังนั้นแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อจัดการปัญหาหลักคือทุกภาคส่วนต้องทบทวนการดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมาและต้องมีการสื่อสาร ปรึกษาหารือร่วมกันทั้งสามภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้าใจ