Abstract:
สารนิพนธ์เรื่อง แนวทางพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรณีศึกษา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาในการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุของ กฟผ. และเสนอแนะแนวทางพัฒนางานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ โดยศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากเอกสารที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์แบบเชิงลึกจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุของ กฟผ. เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุของ กฟผ.
จากการศึกษาพบว่า กฟผ. มีการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด มีการออกระเบียบและคำสั่งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลให้การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุมีความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถตรวจสอบได้ตามหลักแนวคิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุของ กฟผ. ผ่านแนวคิดห่วงโซ่แห่งคุณค่าทำให้พบปัญหาในการดำเนินงาน ซึ่งได้แก่ 1) รูปแบบในการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุบางขั้นตอนมีการดำเนินงานแบบเชิงรับ ส่งผลให้การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น 2) ขาดการบริหารจัดการคลังพัสดุที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานด้านพัสดุ 3) เกิดความล่าช้าในงานด้านเอกสาร เนื่องจากบางงานต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและดุลยพินิจสูง 4) ผู้ปฏิบัติงานบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจใน ระเบียบและแนวทางการปฏิบัติงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ 5) กฟผ. มีโครงสร้างองค์การขนาดใหญ่ มีหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนในการกำกับดูแลภาพรวมงาน 6) ขาดการพัฒนาระบบหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุต่อยอดจากระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรที่ กฟผ. ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ผลจากการศึกษาพบว่า กฟผ. สามารถปรับปรุงและพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุผ่านหลัก Balanced Scorecard (BSC) ซึ่งกล่าวถึง มุมมองในการควบคุมและประเมินประสิทธิภาพการทำงานขององค์การ โดยหากมองในมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนาและการพัฒนาปัจจัยอื่นๆที่ช่วยเหลือในการทำงาน จะส่งผลให้มีการพัฒนากระบวนการทำงานเกิดเป็นผลการดำเนินงานที่ดี นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานด้านอื่นขององค์การ สร้างความน่าเชื่อถือและความความมั่นใจให้แก่ประชาชนและประโยชน์ต่อประเทศ