Abstract:
งานวิจัยเรื่อง แนวทางในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Savvy) ตามแผนงาน Digital Competency: กรณีศึกษา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายการพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Savvy) ของ กฟผ. ปัญหาและอุปสรรคของแผนการดำเนินงานด้าน Digital Competency และเสนอแนะแนวทางในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Savvy ด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวนทั้งสิ้น 16 คน แบ่งเป็น บุคลากรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย3 กลุ่ม คือ ระดับผู้บริหาร (3 คน) ระดับหัวหน้าแผนก (3 คน) ระดับผู้ปฏิบัติงาน (9 คน) นอกจากนี้ ยังสัมภาษณ์นักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อีก 1 คน
ผลการศึกษา พบว่า (1) การรับรู้แนวทางการเสริมสร้างบุคลากรให้มีความรู้และทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Savvy) ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ไม่ได้มีการรับรู้แนวทางการเสริมสร้างบุคลากรให้มีความรู้และทักษะดิจิทัล เนื่องจากไม่ค่อยมีการสื่อสารนโยบายเกี่ยวกับการเสริมสร้างทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ บุคลากรทุกระดับเห็นความสำคัญของการมีทักษะทางด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital savvy) ในการส่งผลต่อการทำงานของตนเองรวมทั้ง ส่งผลถึงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร (2) ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามแผนงาน Digital Competency ให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ทัศนคติส่วนบุคคล หรือ Mindset ในการเรียนรู้และเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยต้องทำให้บุคลากรเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน (3) แนวทางการพัฒนา/ปรับปรุงทักษะการประยุกต์ใช้ดิจิทัลของบุคลากร กฟผ. มีความคาดหวังว่า บุคลากรในองค์กรต้องสามารถใช้งานในโปรแกรมขั้นพื้นฐานที่องค์กรกำหนดไว้ และควรมีระดับทักษะตามค่าคาดหวังที่กำหนดไว้ในสมรรถนะหลักขององค์กร (Core Competency) สำหรับข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัย มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรในองค์กรให้เป็นกรอบความคิดเติบโต (Growth Mindset) ด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น Digital Culture การทำให้เห็นถึงประโยชน์ของดิจิทัล (Digital Benefits) การรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ (Ownership Mindset) การสอนงาน (Coaching) การมีพี่เลี้ยง (Mentoring) การฝึกปฎิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง (On the job training) และการสนับสนุนจากผู้บริหารในการเปิดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา