Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการนํานโยบายไปปฏิบัติของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ในด้านการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า นโยบายด้านการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการระดับแห่งชาติ โดยใช้แผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Clinical practice guideline) ตามแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยหรือภัยพิบัติ (Disaster Risk Management: DRM) นโยบายยังเน้นความร่วมมือและบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่การผลิตสุกร
การนำนโยบายไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จเกิดจาก 1) การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายจากระดับล่างขึ้นบน (Bottom up approach) 2) การปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 3) การจัดกลุ่มพื้นที่ตามระดับความเสี่ยงของโรคเพื่อกำหนดมาตรการและจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม 4) โครงสร้างการทำงานแบบบูรณาการที่ยืดหยุ่น คล่องตัวรวดเร็ว และมีลักษณะเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ 5) รูปแบบการสื่อสารนโยบายแบบเชิงรุก (Pro-active) และมีกลยุทธ์สร้างการตื่นรู้ในภาคประชาชน (Public awareness) 6) การสร้างรับรู้ของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติและการพัฒนาบุคลากรที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ 7) การส่งเสริมผลักดันให้เกษตรกรปรับระบบการเลี้ยงสุกรให้มีระบบป้องกันโรค (Biosecurity) ขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ในระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good farming management: GFM) 8) การติดตามและประเมินผลนโยบายร่วมกันในหน่วยงาน และ 9) การทำงานเชิงรุกในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกร