Abstract:
การศึกษาเรื่อง “ประสิทธิผลของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ช่วงปี พ.ศ. 2552-2563” ผู้วิจัยได้ตั้งคำถามการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า ผลลัพธ์การสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในจังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2563 เป็นอย่างไร โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการวิจัยด้วยการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด จำนวน 10 ท่าน ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พี่เลี้ยงงานวิจัย ภาคีที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่และนักชาวบ้าน
ผลการศึกษาพบว่า การสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 – 2563 เกิดผลลัพธ์ที่ประสบผลสำเร็จ โดยพบว่าประการแรก กลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณที่ต่ำ ค่าตอบแทนที่น้อยมาก ด้วยการอาศัยพี่เลี้ยงนักวิจัยเป็นผู้ที่ทำงาน “ด้วยใจ” เข้าใจคนและบริบทของพื้นที่ ไม่ได้หวังผลตอบแทน พี่เลี้ยงเป็นผู้ดึงตัวแสดง (Actors) ที่สำคัญในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย (Networks) ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเป็นผลกระทบที่สูง เกิดความคุ้มค่ากับต้นทุนทางการเงินที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนลงไปในพื้นที่ ประการที่สอง ผลจากการวิจัยสามารถแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่นได้จริง และมีการต่อยอดงานโดยหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประการที่สาม เกิดการเสริมพลัง (empowerment) ให้แก่ชาวบ้าน และชาวบ้านที่ได้รับการหนุนเสริมให้เป็น “นักวิจัยไทบ้าน” (นักวิจัยชาวบ้าน) สามารถต่อยอดทักษะและองค์ความรู้จากการทำงานวิจัยได้ ทั้งนี้พบปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญได้แก่ กระบวนการหนุนเสริมนักวิจัยชาวบ้านของพี่เลี้ยง และการดึงหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนงานวิจัยตั้งแต่ต้นทำให้โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีโอกาสแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ในระยะยาวและยั่งยืน รวมทั้งเกิดการสร้างและใช้ฐานข้อมูลชุมชนท้องถิ่นได้จริง โดยข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายต่อหน่วยงานในระบบวิจัย ควรให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นตามหลักการบริหารงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในอดีต สร้างจุดยืนด้วยการจัดตั้งหน่วยจัดบริหารจัดการทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่นหรือสนับสนุนงบประมาณการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยชาวบ้านเป็นนักวิจัยเอง ประเภทการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากงานวิจัยจริงไม่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง