Abstract:
สถานกักตัวคนต่างด้าวของประเทศไทยมีผู้ต้องกักที่ไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ตกค้างอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่าย สุขภาพของผู้ต้องกัก การควบคุมของเจ้าหน้าที่ รวมถึงภาพลักษณ์ของหน่วยงาน งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายหรือระเบียบข้อบังคับในประเทศและระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งกลับ วิเคราะห์ความท้าทายในการส่งกลับ เพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการการดูแลและส่งกลับผู้ต้องกัก การศึกษาในครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากเอกสารของภาครัฐ ใช้เทคนิควิจัยโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์ ผลการศึกษาพบว่า ระเบียบข้อบังคับของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีการส่งกลับตามกฎหมายคนเข้าเมือง มีหลักการว่าผู้ต้องกักเป็นคนสัญชาติใดให้ส่งกลับไปยังประเทศภูมิลำเนานั้นเป็นหลัก ส่วนแนวทางปฏิบัติในการส่งกลับแต่ละประเทศ พบว่าประเทศส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียและแอฟริกามีการให้ความช่วยเหลืออย่างจำกัด แต่อย่างไรก็ดีประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือจะมีขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือจนสามารถกลับภูมิลำเนาได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวประเทศไทยได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลักการห้ามผลักดันกลับ ส่งผลให้ปัจจุบันมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจกลับภูมิลำเนา พ.ศ. 2562 มาบังคับใช้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการและใช้คัดกรองเฉพาะผู้ลี้ภัยเท่านั้น จึงยังไม่มีนโยบายหรือระเบียบอื่นใดให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับ ในส่วนของความท้าทายนั้นพบว่า ความขัดแย้งทางการเมือง ระบอบการปกครอง และธรรมาภิบาลของประเทศภูมิลำเนา ส่งผลต่อความสำเร็จในการส่งกลับ จากข้อค้นพบดังกล่าว มีข้อเสนอแนะคือควรเร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการและมีแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ ควรสร้างที่พักพิงให้เหมาะสม และรัฐบาลควรมีการเจรจาทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศภูมิลำเนาของผู้ต้องกักเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป