Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบลักษณะและความรุนแรงของอาการหูแว่วในผู้ป่วยจิตเภท ก่อนและหลังการใช้โปรแกรมการจัดการกับอาการหูแว่ว กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการหูแว่วจำนวน 20 คน ซึ่งคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ โปรแกรมการจัดการกับอาการหูแว่วในผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งพัฒนาตามแนวคิด การจัดการกับอาการ ของ Dodd (2001) และแบบประเมินลักษณะและความรุนแรงของอาการหูแว่ว โดยได้ผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน ค่าความเที่ยงของแบบประเมินโดยการคำนวณสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค (Cronbach's alpha coefficient) มีค่าเท่ากับ .80 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาโดยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (Paired t-test) ผลการศึกษาที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ ลักษณะและความรุนแรงของอาการหูแว่วของผู้ป่วยจิตเภทหลังได้รับโปรแกรมการจัดการกับอาการหูแว่ว มีระดับต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการจัดการกับอาการหูแว่ว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05