Abstract:
การศึกษาโครงการศึกษาอิสระครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบภาระการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทในเขตอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาครอบครัว กลุ่มตัวอย่างคือ ครอบครัวผู้ป่วยจิตเภทอันประกอบด้วย ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งได้รับการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ จำนวน 20 ครอบครัว เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษาคือ โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาครอบครัว ซึ่งได้พัฒนามาจากโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาครอบครัวของ จิราพร รักการ (2549) ตามแนวคิดของ Anderson (1980) ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา จากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดภาระการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท หาคำค่าความเที่ยงของแบบสอบถามได้เท่ากับ .94 วิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (paired t-test) ผลการศึกษาที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ ภาระการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทโรงพยาบาลแปลงยาว หลังได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาครอบครัว ทั้งรายด้านและโดยรวม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05