Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการนำกลับไอออนปรอทจากสารละลายป้อนคือน้ำทิ้งจากหลุมเจาะก๊าซธรรมชาติด้วยเยื่อแผ่นเหลวที่พยุงด้วยเส้นใยกลวง ใช้เยื่อแผ่นเหลวแบบอิมัลชันในการเลือกชนิดของสารสกัดและตัวทำละลายที่เหมาะสม และค่าการคัดเลือกของสารสกัดแต่ละชนิดเพื่อศึกษาปัจจัยอื่นต่อด้วยเยื่อแผ่นเหลวที่พยุงด้วยเส้นใยกลวงเนื่องจากการปฏิบัติการด้วยเยื่อแผ่นเหลวแบบอิมัลชันใช้สารสกัดในปริมาณน้อยกว่าและเวลาในการปฏิบัติการสั้น ปัจจัยอื่นที่ศึกษาด้วยเยื่อแผ่นเหลวที่พยุงด้วยเส้นใยกลวง ได้แก่ ความเป็นกรด-เบสของสารละลายป้อน ความเข้มข้นของสารสกัด ความเข้มข้นของสารละลายนำกลับโซเดียมไฮดรอกไซด์ อัตราการไหลเชิงปริมาตรของสารละลายป้อนและสารละลายนำกลับ จำนวนมอดูล และอายุการใช้งานของเยื่อแผ่นเหลวผลการวิจัยพบว่าร้อยละของการสกัดไอออนปรอทสูงสุดเมื่อใช้สารสกัด Tri-n-octylamine (TOA) ละลายในตัวทำละลายโทลูอีน การเพิ่มจำนวนหอสกัดมีผลต่อร้อยละของการสกัดและการนำกลับไอออนปรอทเล็กน้อย เมื่อสกัดด้วย 4 หอสกัด ด้วยเวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมง ได้ค่าร้อยละของการสกัดและการนำกลับไอออนปรอทสูงสุดเท่ากับ 98 และ 60 ที่ค่าความเป็นกรด-เบสของสารละลายป้อนเท่ากับ 2.5 ความเข้มข้นของสารสกัด TOA ในตัวทำละลายโทลูอีน 2% โดยปริมาตร ความเข้มข้นของสารละลายนำกลับโซเดียมไฮดรอกไซด์ 0.5 โมลต่อลิตร และอัตราการไหลของสารละลายป้อนและสารละลายนำกลับเท่ากับ 100 มิลลิลิตรต่อนาที อายุการทำงานของเยื่อแผ่นเหลวที่พยุงด้วยเส้นใยกลวงมีสมรรถนะในการสกัดไอออนปรอทสูงไม่เกิน 120 นาที ค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทมวลของสารละลายป้อน (k[subscript i]) และค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทมวลของเยื่อแผ่นเหลว (k[subscript m]) เท่ากับ 0.011 และ 1.028 เซนติเมตรต่อวินาที
สังเกตได้ว่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทมวลของเยื่อแผ่นเหลวมีค่าสูงกว่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทมวลของสารละลายป้อน แสดงว่าขั้นตอนควบคุมปฏิกิริยาการสกัดคือการถ่ายเทมวลของไอออนปรอทผ่านชั้นฟิล์มระหว่างสารละลายป้อนและสารละลายเยื่อแผ่นเหลว