Abstract:
วิเคราะห์รูปแบบการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของกรรมกรโรงงานทั้งในและนอกกระบวนการผลิต และวิเคราะห์โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อความคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร ข้อมูลที่นำมาเสนอและวิเคราะห์สังเคราะห์ มาจากการศึกษากระบวนการผลิตเหล็กเส้นของโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ โดยเน้นการสัมภาษณ์ผู้ใช้แรงงานจำนวน 27 คน และฝ่ายบริหารจัดการจำนวน 1 คน อีกทั้งสังเกตการณ์การประชุมกรรมการสหภาพแรงงาน และการประชุมใหญ่ประจำปีของสหภาพแรงงาน และใช้ข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาได้ยืนยันว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างที่ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน ที่ได้มาจากกระบวนการทำงานของผู้ใช้แรงงาน พลังแรงงงานของมนุษย์ เป็นแหล่งที่มาของกำไรของนายทุน ซึ่งกำไรจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการทำงานของแรงงาน ในฐานะผู้สร้าง ด้วยเหตุนี้องค์ประกอบในการผลิตที่สำคัญที่สุดคือ แรงงาน ที่เข้ากระทำต่อปัจจัยการผลิต ภายในโครงสร้างทางเศรษฐกิจพบว่า ได้มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมโดยนายทุนที่มีลักษณะทางชนชั้นและเผด็จการ ซึ่งฝ่ายทุนพยายามปกครองและควบคุมแรงงานให้ทำงานรับใช้เป้าหมายของทุน ระบบความสัมพันธ์แบบชนชั้นนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น แรงงานผู้ซึ่งยังคงมีพลังอำนาจในการต่อรอง พยายามท้าทายและเป็นฝ่ายกำหนดกฎระเบียบในการทำงานจากระดับล่างสู่บนบ้าง เพื่อคานอำนาจของทุนไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผลประโยชน์ของแรงงานจนเกินไป ด้วยการต่อสู้ทุกรูปแบบและวิธีการอันได้แก่ การต่อต้านของปัจเจกบุคคล การต่อสู้ของคนงานกะหนึ่งๆ และของสหภาพแรงงาน ในประเด็นปัญหาการควบคุมงานและการลิดรอนผลประโยชน์ของแรงงาน เพื่อมุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจในความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ในด้านหนึ่งการต่อต้านของปัจเจกบุคคลนำไปสู่การต่อสู้ของกลุ่มและในนามของสหภาพแรงงาน และอีกด้านหนึ่งการต่อสู้ของปัจเจกมีลักษณะกระจัดกระจาย ไร้การรวมกลุ่ม อย่างไรก็ตามการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปภายในระบบ ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่มีลักษณะพึ่งพาและขัดยังกันระหว่างทุนกับแรงงาน