Abstract:
ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอุปสงค์ของผู้บริโภคและการกระจายรายได้มีความสำคัญเพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือชี้แนะแนวทางกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้ ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนต่าง ๆและปัญหาการกระจายรายได้ในประเทศไทยอยู่มาก ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงทฤษฎีและในการนำผลการศึกษาเหล่านั้นไปใช้ในด้านต่าง ๆ มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างที่สำคัญที่เกิดจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านขนาดและโครงสร้างของครัวเรือนในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มิได้รับการวิเคราะห์วิจัยอย่างพอเพียง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ มีความสำคัญทั้งในแง่อุปสงค์และสวัสดิการทางเศรษฐกิจของครัวเรือน งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ทำการประยุกต์ตัวแบบ Linear Expenditure System โดยการผนวกตัวแปรทางด้านขนาดและโครงสร้างของครัวเรือนเข้าไปในตัวแบบที่อธิบายการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าต่าง ๆ 10 ชนิด ของครัวเรือน 3 ประเภท เพื่อศึกษาอุปสงค์ของครัวเรือนผู้บริโภคเหล่านี้ ผลการประมาณค่าที่ได้นอกจากจะเป็นค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างไปจากค่าประมาณที่ไม่คำนึงถึงขนาดและโครงสร้างของครัวเรือนแล้ว ยังมีค่าผู้ใหญ่สมมูลย์หรือ Adult Equivalence Scale ซึ่งใช้เปรียบเทียบความจำเป็นในการบริโภคของเด็ก 1 คนกับผู้ใหญ่ 1 คน ค่าผู้ใหญ่สมมูลย์นี้มีประโยชน์ในการศึกษาปัญหาการกระจายรายได้ ผลการประมาณค่าชี้ให้เห็นว่า ขนาดและโครงสร้างของครัวเรือนมีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับค่าความยืดหยุ่นต่าง ๆที่ใช้ในการอธิบายพฤติกรรมของครัวเรือนผู้บริโภคต่าง ๆ ระดับการใช้จ่ายผูกพันของผู้ใหญ่และเด็กในครัวเรือนต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึง ความแตกต่างในมาตรฐานการครองชีพต่ำสุดของครัวเรือนแต่ละประเภท เมื่อใช้ค่าผู้ใหญ่สมมูลย์ที่ประมาณได้มาศึกษาปัญหาการกระจายรายได้ ผลการคำนวณชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการกระจายรายได้ อาจไม่รุนแรงเท่าที่เคยมีการประมาณไว้ อย่างไรก็ตาม หน่วยในการวัดไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปัญหาการกระจายรายได้ในประเทศไทย อย่างน้อยในระหว่างปี พ.ศ. 2531, 2533, และ 2535 เพราะการเปลี่ยนหน่วยในการวัดไม่ได้ผลการศึกษาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านขนาดและโครงสร้างของครัวเรือนในอนาคตจะไม่ทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่เหมือนกันเกี่ยวกับปัญหาการกระจายรายได้ในประเทศไทย ถ้าเลือกใช้หน่วยในการวัดที่แตกต่างกัน