Abstract:
การยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส เป็นกลไกหนึ่งของยาในกลุ่มต้านเบาหวาน โดยที่เอนไซม์นี้
เป็นเอนไซม์สำคัญในการย่อยสารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว การยับยั้งเอนไซม์นี้ จะสามารถลดปริมาณการดูดซึมกลูโคสเข้ากระแสเลือดหลังการรับประทานอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ และในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากค้นพบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสจากพืชสกุลหวาย (Dendrobium spp.) ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะนำเอื้องจำปาซึ่งเป็นพืชในสกุลหวายมาทำการสกัดแยกสารเพื่อหาโครงสร้างทางเคมีและสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ แอลฟา-กลูโคซิเดส จากการนำส่วนเหนือดินของเอื้องจำปา น้ำหนักแห้ง 1.3 กิโลกรัม มาแค่สกัดด้วย methanol แล้วตามด้วยวิธี partition ระหว่างตัวทำละลาย 3 ชนิดคือ น้ำ ethyl acetate และ butanol จากนั้นนำสิ่งที่ได้จากชั้น ethyl acetate มาสกัดแยกโดยใช้เทคนิคทาง column chromatography โดยใช้ silica gel และ sephadex LH20 จากนั้นนำสารบริสุทธิ์ที่แยกได้ ไปวิเคราะห์ต่อด้วยเทคนิค NMR spectroscopy เพื่อหาสูตรโครงสร้างทางเคมีและทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสด้วย α-glucosidase inhibition assay จากชั้นของ ethyl acetate สามารถแยกสารบริสุทธิ์ได้ทั้งหมด 3 ชนิดได้แก่ flavanthrinin moscatilin และ trans-o-coumaric acid คิดเป็นร้อยละ เท่ากับ 7.25x10-4 ,6.48x10-3 ,4.01x10-3 ตามลำดับ ซึ่งสารที่ถูกพบเหล่านี้มีเพียง flavanthrin เท่านั้นที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสที่ค่า IC50 เท่ากับ 34.45 ไมโครโมลาร์ ซึ่งมากกว่าฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสของ acarbose ที่มีค่า IC50 มากถึง 530.74 ไมโครโมลาร์ ซึ่งการค้นพบนี้ถือเป็นงานวิจัยแรกที่พบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสของสาร flavanthrinin