Abstract:
หาความสัมพันธ์ระหว่างค่าเซฟาโลเมตริกต่างๆ ของโครงสร้างกระดูกและฟันกับเนื้อเยื่ออ่อนในส่วนต่างๆ ที่สอดคล้องกันในผู้ที่มีลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าแบบต่างๆ กลุ่มตัวอย่างได้จากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จากผู้ที่มารับการรักษาทันตกรรมจัดฟันที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 120 คน อายุ 12-19.8 ปี แบ่งเป็นกลุ่มละ 40 ตัวอย่าง โดยใช้เกณฑ์ของสไตเนอร์ (มุม ANB) ประกอบด้วยลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าแบบที่ 1 (มุม ANB เท่ากับ 2-6 องศา) แบบที่ 2 (มุม ANB เท่ากับ 6.5-10.5 องศา) และแบบที่ 3 (มุม ANB เท่ากับ -3.5-1.5 องศา) กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าในแนวดิ่งปกติ (มุม FMA เท่ากับ 21-29 องศา มุม SN-GoGn เท่ากับ 28-39 องศา) นำภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างก่อนการรักษาของกลุ่มตัวอย่างมาลอกลาย และวัดค่าเซฟาโลเมตริกต่างๆ ในส่วนของโครงสร้างกระดูกและฟัน ได้แก่ตำแหน่งของขากรรไกรบนและล่างกับกระดูกฐานกะโหลกศีรษะ ความสัมพันธ์ในแนวหน้าหลังของขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง (ค่า SNA, SNB, SNPog, A-NPog และ ANB) ค่าเซฟาโลเมตริกที่ใช้พิจารณามิติในแนวดิ่งของกะโหลกศีรษะและใบหน้า (N-ANS, ANS-Me) ค่าเซฟาโลเมตริกที่ใช้เป็นตัวแทนของฟันบนและฟันล่างในแนวระนาบ (1--FH, 1-FN, Is-NPong และ li-NPog) ค่าเซฟาโลเมตริกที่ใช้เป็นตัวแทนของฟันบนและฟันล่างในแนวดิ่ง (ANS-Is, li-Me) และค่าเซฟาโลเมตริกที่ใช้แสดงโครงสร้างใบหน้า (N-A-Pog) นำมาวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 กับค่าเซฟาโลเมตริกของเนื้อเยื่ออ่อนที่สอดคล้องกันในกลุ่มตัวอย่าง ที่มีลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าทั้งสามแบบ ผลการวิจัยพบว่ามีความแตกต่างระหว่างความสัมพันธ์ของค่าเซฟาโลเมตริกต่างๆ ของโครงสร้างกระดูกและฟันกับเนื้อเยื่ออ่อนที่สอดคล้องกันในส่วนต่างๆ ดังนี้ มีความสัมพันธ์ระดับสูงระหว่างตำแหน่งของขากรรไกรบนและล่าง กับกระดูกฐานกะโหลกศีรษะกับเนื้อเยื่ออ่อนที่สอดคล้องกัน ในโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าทั้งสามแบบ ความสัมพันธ์ในแนวหน้าหลังของขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าแบบที่ 1 และ 2 มีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง มิติในแนวดิ่งของกะโหลกศีรษะและใบหน้ากับเนื้อเยื่ออ่อนที่สอดคล้องกันมีความสัมพันธ์ในระดับสูง ในโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าทั้งสามแบบ ระดับความสัมพันธ์ของฟันกับเนื้อเยื่ออ่อนในแนวระนาบส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กันน้อย ความสัมพันธ์ของฟันกับเนื้อเยื่ออ่อนในแนวดิ่งมีความสัมพันธ์ตั้งแต่ปานกลางจนถึงน้อย