Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สถานการณ์การทำงานต่ำระดับ 2) ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานต่ำระดับ และ 3) การเข้าสู่การทำงานต่ำระดับและการปรับตัวของประชากรวัยแรงงานและประชากรสูงวัย โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสานรูปแบบคู่ขนานเข้าหากัน การวิจัยเชิงปริมาณได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลโครงการสำรวจแรงงานนอกระบบ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้กลุ่มตัวอย่าง 49,394 คน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจากกรณีตัวอย่าง 40 คน ครอบคลุม 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพรรณนาและสถิติอนุมานร่วมกับข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่า การทำงานต่ำระดับของประชากรวัยแรงงานและประชากรสูงวัยกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยทั้งด้านเวลา ด้านการศึกษา และด้านรายได้ โดยมีผู้ทำงานต่ำระดับมากกว่า 1 ด้านในลักษณะซับซ้อนและซ้ำซ้อน และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วยแบบจำลองโพรบิทพบว่า ในภาพรวมนั้น ปัจจัยซึ่งมีผลต่อการทำงานต่ำระดับทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สถานภาพสมรส สถานะการจ้างงาน ประเภทอาชีพ ประเภทอุตสาหกรรม ภูมิภาคที่อยู่อาศัย ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลเฉพาะด้านการศึกษาและด้านรายได้ ได้แก่ รุ่น เพศ จำนวนปีที่ศึกษา ปัจจัยที่มีผลเฉพาะด้านเวลาและด้านการศึกษา ได้แก่ รายได้ และปัจจัยที่มีผลเฉพาะด้านรายได้ ได้แก่ เขตการปกครอง การเข้าสู่การทำงานต่ำระดับนั้นมีสาเหตุหลักและสาเหตุรองประกอบกันในลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยอาจจัดการประกอบกันได้ 5 กลุ่ม ดังนี้ 1) การรักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับการดูแลครอบครัวประกอบกับความไม่พึงพอใจในงานเดิม 2) การรักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับการดูแลครอบครัวประกอบกับปัญหาสุขภาพ 3) การไม่สามารถหางานที่เหมาะสมได้ประกอบกับสาเหตุรองด้านความไม่พึงพอใจในงานเดิม ครอบครัวมีภาระหนี้สิน การออกจากระบบการศึกษากลางคัน สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ข้อจำกัดในการหางานเมื่อมีอายุมากขึ้น 4) ความพึงพอใจในงานประกอบกับสาเหตุรองด้านความไม่พึงพอใจในงานเดิม การมีปัญหาสุขภาพ ครอบครัวมีภาระหนี้สิน และ 5) ความพึงพอใจในงานประกอบกับปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ ภายหลังเข้าสู่การทำงานต่ำระดับพบการปรับตัวของทั้งประชากรวัยแรงงานและประชากรสูงวัยใน 2 ลักษณะ คือ 1) การไม่ปรับตัว และ 2) การปรับตัวด้านจิตใจ ด้านการทำงาน ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม รวมถึงพบการปรับตัวของบุคคลใกล้ชิด ได้แก่ ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน นายจ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นช่วงการปรับตัวนั้น ทั้งประชากรวัยแรงงานและประชากรสูงวัยยังมีความเสี่ยงต่อเนื่องทั้งด้านการทำงานและการดำรงชีวิต ดังนั้น ควรมีการกำหนดนโยบายในการนำแรงงานที่ทำงานต่ำระดับกลับสู่การทำงานที่มีคุณค่า พร้อมการส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมเชิงรุก เพื่อให้แรงงานทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน