Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของผู้เข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ที่เคยมีช่วงเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นจากการเข้ารับบริการ เนื่องจากเป็นช่วงที่ให้ประโยชน์แก่ผู้รับบริการสูง และยังไม่พบว่าเคยมีการศึกษาในประเทศไทย ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้คือการวิเคราะห์ปรากฏการณ์วิทยาแบบตีความ เก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลจำนวน 6 ราย ผลการวิจัยพบว่าประสบการณ์ของผู้รับบริการสามารถออกได้เป็น 3 ประเด็นหลัก คือ (1) คุณลักษณะของสัมพันธภาพที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ ประกอบด้วย 3 ประเด็นรอง คือการได้บอกเล่าเรื่องราวที่เก็บไว้ในใจ, นักจิตวิทยาการปรึกษาตั้งใจรับฟังและเข้าใจไปด้วยกัน และการรับรู้และพิจารณาโลกภายในโดยผู้รับบริการเอง (2) กระบวนการสำคัญที่นำไปสู่ความเข้าใจใหม่ ประกอบด้วย 4 ประเด็นรอง คือเกิดการสังเกตและทำความเข้าใจประสบการณ์ตัวเอง, เกิดการเปลี่ยนแปลง/ตั้งคำถามกับความเชื่อหรือความเข้าใจที่ตนมีอยู่เดิม, เกิดการทดลองทำสิ่งใหม่หรือแก้ปัญหาตามข้อสรุปที่ได้จากการปรึกษา และขยายมุมมองที่มีต่อสถานการณ์และทางเลือก และ (3) ผลลัพธ์เชิงบวกจากการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ประกอบด้วย 2 ประเด็นรอง คือการเพิ่มศักยภาพในการจัดการกับปัญหา/สถานการณ์ และการยอมรับตัวเองและอยู่กับปัญหาด้วยความเข้าใจ ผลการวิจัยนี้สะท้อนถึงภาพรวมของประสบการณ์และกลไกการเปลี่ยนแปลงตลอดจนผลลัพธ์ที่ผู้ให้ข้อมูลได้จากการเข้ารับบริการ ผลที่ได้สอดคล้องกับวรรณกรรมที่ผ่านมาหลายชิ้น และได้เสนอแนะประเด็นที่น่าศึกษาเพิ่มเติม คือการศึกษาถึงลักษณะของข้อมูลที่มีความสำคัญ และการศึกษากลไกของกระบวนการเกิดความเข้าใจใหม่ในบริบทที่กว้างขึ้น รวมถึงการนำมโนทัศน์เกี่ยวกับเรื่องระดับของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเข้ามาช่วยกำหนดขอบเขตการศึกษาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น