Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบทบาททางเพศ รูปแบบความผูกพัน กับความเมตตากรุณาต่อตนเองในกลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตนักศึกษา จำนวน 199 คน อายุเฉลี่ย 20.32±.01 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) มาตรวัดบทบาททางเพศ (2) มาตรวัดรูปแบบความผูกพันในความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั่วไป ฉบับภาษาไทย และ (3) มาตรวัดความเมตตากรุณาต่อตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า บทบาททางเพศแบบความเป็นชายกับบทบาททางเพศแบบความเป็นหญิงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเมตตากรุณาต่อตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .22, p < .01) (r = .185, p < .01) ส่วนลักษณะความผูกพันแบบวิตกกังวลกับลักษณะความผูกพันแบบหลีกหนีมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเมตตากรุณาต่อตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.318, p < .01) (r = -.346, p < .01) โดยที่บทบาททางเพศแบบความเป็นชาย บทบาททางเพศแบบความเป็นหญิง ลักษณะความผูกพันแบบวิตกกังวล และลักษณะความผูกพันแบบหลีกหนีสามารถร่วมกันทำนายความเมตตากรุณาต่อตนเองในกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยร่วมกันทำนายความแปรปรวนของความเมตตากรุณาต่อตนเองร้อยละ 23.2 (R2 = .232, p < .001) เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐานของแต่ละตัวแปรทำนายลักษณะความผูกพันแบบวิตกกังวลมีน้ำหนักค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐานสูงที่สุด (β = -.31, p < .001) ตามด้วยลักษณะความผูกพันแบบหลีกหนี (β = -.30, p < .001) ส่วนบทบาททางเพศแบบความเป็นชาย ไม่สามารถทำนายความเมตตากรุณาต่อตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .06, p = .375) เช่นเดียวกับบทบาททางเพศแบบความเป็นหญิง (β = .09, p = .244)