Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสัมพันธภาพระหว่างมิติความผูกพันของผู้รับบริการและสัมพันธภาพในการบำบัด โดยมีการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่ออวัจนภาษาของนักจิตวิทยาเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างคือผู้ที่เคยมีประสบการณ์เข้ารับบริการปรึกษาทางจิตวิทยาจำนวน 137 คน อายุเฉลี่ย 26.15 ± 7.219 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยนี้ได้แก่ (1) แบบสอบถามอวัจนภาษาของนักจิตวิทยา (2) แบบสอบถามสัมพันธภาพในการบำบัด และ (3) แบบสอบถามรูปแบบความผูกพัน วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและทดสอบตัวแปรส่งผ่านโดยใช้คำสั่ง PROCESS (Hayes et al., 2017) ผลการวิจัยพบว่า
มิติความผูกพันแบบวิตกกังวลของผู้รับบริการ มีค่าสหสัมพันธ์ทางบวกกับสัมพันธภาพในการบำบัด (r = .276, p < .01) และมิติความผูกพันแบบวิตกกังวลของผู้รับบริการ มีค่าสหสัมพันธ์ทางบวกกับการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่ออวัจนภาษาของนักจิตวิทยา (r = .346, p < .01) ในขณะที่มิติความผูกพันแบบหลีกหนีของผู้รับบริการ มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับสัมพันธภาพในการบำบัด (r = -.302, p < .01) และมิติความผูกพันแบบหลีกหนีของผู้รับบริการมีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่ออวัจนภาษาของนักจิตวิทยา (r = -.179, p < .05) นอกจากนี้ การรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่ออวัจนภาษาของนักจิตวิทยา มีค่าสหสัมพันธ์ทางบวกกับสัมพันธภาพในการบำบัด (r = .546, p < .01)
ผลการวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่าน พบว่า การรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่ออวัจนภาษาของนักจิตวิทยาส่งผลทางอ้อม (Indirect Effect) ระหว่างมิติความผูกพันแบบวิตกกังวลกับสัมพันธภาพในการบำบัดในระดับ .39 (p < .05) และการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่ออวัจนภาษาของนักจิตวิทยาส่งผลทางอ้อมระหว่างมิติความผูกพันแบบหลีกหนีของผู้รับบริการกับสัมพันธภาพในการบำบัดในระดับ -.18 (p < .05)