Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในประเด็นของการถ่ายโอนย้อนกลับของนักจิตบำบัดในกระบวนการบำบัดรักษา ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ (Interpretative Phenomenological Analysis: IPA) โดยเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง ผู้เข้าร่วมวิจัยคือนักจิตบำบัดที่มีประสบการณ์ทำงานระหว่าง 5 – 10 ปี จำนวน 6 ราย ผลการวิจัยสามารถแบ่งได้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้รับบริการ ประกอบด้วย การพบประสบการณ์ที่นักจิตบำบัดคุ้นเคย การรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวของผู้รับบริการ และการไม่สามารถกักเก็บอารมณ์ที่รู้สึกต่อผู้รับบริการ 2) การถ่ายโอนย้อนกลับเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ประกอบด้วย การขัดแย้งกับภาพที่นักจิตบำบัดคิดว่าควรจะเป็น และ การรบกวนชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวของนักจิตบำบัด และ 3) การพยายามยุติการถ่ายโอนย้อนกลับ ประกอบด้วย นักจิตบำบัดจัดการตัวเอง (การดึงสติให้จดจ่อกับกระบวนการ การปรับกระบวนการบำบัดรักษาเพื่อเลี่ยงอิทธิพลของการถ่ายโอนย้อนกลับ การเพิ่มความรู้และความเข้าใจทางทฤษฎีและประสบการณ์ของตน การยอมรับในขอบเขตของนักจิตบำบัด) การปรึกษาอาจารย์นิเทศและพบนักจิตบำบัดของตน (การชี้ให้เห็นการถ่ายโอนย้อนกลับที่เกิดขึ้น การช่วยหาทางแก้ไขการถ่ายโอนย้อนกลับ) และการระบายและขอความเห็นจากคนรอบข้าง ซึ่งผลการวิจัยช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ของการถ่ายโอนย้อนกลับของนักจิตบำบัดเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นประโยชน์ต่อนักจิตบำบัด ตลอดจนผู้ให้ฝึกอบรมหรือผู้ให้การนิเทศตระหนักถึงความสำคัญของประสบการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสามารถนำเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนา ฝึกฝน รวมถึงพัฒนางานในศาสตร์จิตบำบัดหรือจิตวิทยาการปรึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป