Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ภายในจิตใจของพนักงานตาบอดที่ทำงานในองค์กร ใช้ระเบียบวิธีวิจัยคุณภาพแนววิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบตีความ (Interpretative Phenomenological Analysis: IPA) เก็บข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึก
แบบกึ่งโครงสร้าง ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นคนพิการทางการเห็นระดับสายตาบอดสนิทที่มีประสบการณ์ทำงานในองค์กรร่วมกับคนทั่วไปจำนวน 6 ราย ผลการวิจัยประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) แรงกดดันภายในใจก่อนเริ่มทำงาน ประกอบด้วย ความต้องการสร้างอัตลักษณ์จากการทำงาน ความจำกัดทางอาชีพ และความกังวลใจต่อการทำงาน 2) ความบีบคั้นทางใจเมื่อเริ่มเป็นพนักงานองค์กร ประกอบด้วย การขาดระบบสนับสนุนการทำงาน การขาดอิสระในการเคลื่อนไหว การถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วม และข้อจำกัดเรื่องผลตอบแทนและความก้าวหน้าในอาชีพ 3) การรับมือกับความบีบคั้นทางใจในองค์กร ประกอบด้วย การรับมือปัญหาด้วยตนเอง และการสนับสนุนจาก
คนรอบข้าง 4) การซึมซับการตีตราสู่ตนเอง ประกอบด้วย ความรู้สึกไม่ทัดเทียมกับผู้อื่น ความรู้สึกเป็นภาระ และความเจียมตัวในความพิการ ผู้วิจัยได้อภิปรายผลโดยอธิบายถึงการปรับตัวของพนักงานตาบอด และการซึมซับการตีตราสู่ตนเองของพนักงานตาบอด ผลการวิจัยในครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลในมุมมองของพนักงานตาบอดในบริบทของการทำงาน เป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือทางจิตใจและการปรับตัวให้แก่พนักงานตาบอด และวางแผนนโยบายที่เอื้อให้พนักงานตาบอดสามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ