Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาอิทธิพลของการใช้งานคุณลักษณะจุดแข็งร่วมกับแรงจูงใจมุ่งเหนือตัวตน ต่อสุขภาวะองค์รวม โดยมีความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุล เป็นตัวแปรส่งผ่าน โดยควบคุมอิทธิพลของการยึดถือคุณค่ามุ่งเหนือตัวตน นิสิต นักศึกษา 192 คนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ตอบแบบสอบถามออนไลน์วัดตัวแปรทั้งหมดในการวิจัยก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ แล้วนำจุดแข็งอันดับต้นหรือจุดแข็งอันดับท้ายไปใช้ในบริบทการเรียน โดยได้รับการกระตุ้นให้ใช้งานจุดแข็งนั้นด้วยแรงจูงใจมุ่งเหนือตัวตน หรือแรงจูงใจมุ่งเน้นตัวเอง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างรายงานความถี่ที่นำจุดแข็งไปใช้ ตอบมาตรวัดความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลและมาตรวัดสุขภาวะซ้ำอีกครั้ง ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมสามทางแบบผสม (การใช้งานจุดแข็ง x แรงจูงใจ x เวลา) หลังควบคุมความแปรปรวนในตัวแปรตามด้วยตัวแปรการยึดถือคุณค่ามุ่งเหนือตัวตนแล้ว ไม่พบอิทธิพลปฏิสัมพันธ์สามทางและปฏิสัมพันธ์สองทาง แต่พบอิทธิพลหลักของตัวแปรเวลา โดยกลุ่มตัวอย่างทุกเงื่อนไขมีคะแนนความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุล และคะแนนสุขภาวะองค์รวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลการวิเคราะห์อิทธิพลด้วยการวิเคราะห์ถดถอยแบบลำดับขั้น พบว่าหลังควบคุมความแปรปรวนในตัวแปรตามด้วยตัวแปรการยึดถือคุณค่ามุ่งเหนือตัวตนแล้ว การใช้งานจุดแข็ง แรงจูงใจ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสอง ไม่มีอิทธิพลทั้งต่อการมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลและสุขภาวะที่วัดหลังการทดลอง รวมทั้งไม่พบอิทธิพลส่งผ่านที่ถูกกำกับตามที่ตั้งสมมุติฐานไว้ แต่ความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลมีอิทธิพลทางบวกต่อสุขภาวะองค์รวม โมเดลโดยรวมอธิบายความแปรปรวนในสุขภาวะได้ร้อยละ 77 กล่าวโดยสรุป งานวิจัยนี้พบว่าการใช้งานจุดแข็งไม่ว่าจะเป็นอันดับต้นหรือท้าย และด้วยแรงจูงใจมุ่งตนเองหรือมุ่งเหนือตัวตน เพิ่มความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลและสุขภาวะองค์รวมให้มากขึ้นได้ไม่แตกต่างกัน โดยความมีใจรักแบบสอดคล้องสมดุลที่เพิ่มขึ้น มีอิทธิพลทางบวกต่อสุขภาวะองค์รวมอย่างมีนัยสำคัญ จึงควรส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับจุดแข็งด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นลักษณะทางบวก เพื่อนำไปทดลองใช้ในบริบทการเรียน โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นจุดแข็งอันดับต้นเท่านั้น