Abstract:
นักเรียนมัธยมเป็นช่วงวัยรุ่นที่อาจเกิดความเครียดได้ง่าย จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งทางร่างกายอารมณ์จิตใจและสังคม จึงควรได้รับการสนับสนุนทางสังคม ความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคม และ การมีทักษะกลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุก ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้วัยรุ่นมีสุขภาวะที่ดี
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการสนับสนุนทางสังคม และความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคม ต่อสุขภาวะ โดยมีกลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุกเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,168 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามกระดาษ ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 และทางออนไลน์ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เดือนมกราคม 2564 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติพื้นฐานและโมเดลสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modelling: SEM) โดยโปรแกรม Mplus ผลการวิจัย พบว่า โมเดลเชิงสาเหตุของความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคม และความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคม ที่มีต่อสุขภาวะ โดยมีกลวิธีจัดการปัญหาเชิงรุกเป็นตัวแปรส่งผ่าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ χ2= 176.414, df =29, p <.001, RMSEA = .066, CFI = .978, TLI = .966, SRMR = .027 โดยการสนับสนุนทางสังคม สามารถอธิบายความแปรปรวนของกลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุกได้ร้อยละ 29.9 ส่วนการสนับสนุนทางสังคม ความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคม และกลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุก ร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของสุขภาวะได้ร้อยละ 74.2 กลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุกเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบบางส่วนของอิทธิพลระหว่างการสนับสนุนทางสังคมต่อสุขภาวะ (อิทธิพลทางตรง=.539 ทางอ้อม=.177 รวม=.716) ส่วนความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคม และกลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุก มีอิทธิพลทางตรงต่อสุขภาวะ (ทางตรง = .170, .324 ตามลำดับ) และการสนับสนุนทางสังคม มีอิทธิพลทางตรงต่อกลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุก (ทางตรง =.547)
จากผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้ผู้ปกครอง และครู เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการสนับสนุนทางสังคม และความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคม ซึ่งทำให้วัยรุ่นมีกลวิธีการจัดการปัญหาเชิงรุกมากขึ้น และนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี