Abstract:
ความเหนื่อยหน่ายในงานเป็นอาการจากการทำงานที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากความเหนื่อยหน่ายในงานส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ในอดีตพบว่าข้อเรียกร้องในงานเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดความเหนื่อยหน่ายในงาน โดยสิ่งที่สามารถยับยั้งการเกิดความเหนื่อยหน่ายในงานได้คือทรัพยากรที่เอื้อต่องาน ตามทฤษฎีโมเดลข้อเรียกร้องในงานและแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องาน การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและยืนยันทฤษฎีโมเดลข้อเรียกร้องในงานและแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องาน โดยเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อเรียกร้องในงาน คือ ภาระงานและความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน ที่มีตัวแปรกำกับเป็นทรัพยากรที่เอื้อต่องาน คือ การสนับสนุนทางสังคมในองค์การ และในการศึกษาครั้งนี้ได้เสริมทรัพยากรบุคคล คือ กลยุทธ์การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา เข้ามาช่วยลดความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานกับความเหนื่อยหน่ายในงาน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาในครั้งนี้คือข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีอายุงานราชการไม่ต่ำกว่า 1 ปี จำนวน 260 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) มาตรวัดความเหนื่อยหน่ายในงาน 2) มาตรวัดภาระงาน 3) มาตรวัดการสนับสนุนทางสังคมในองค์การ และ 4) มาตรวัดกลยุทธ์การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าการปฏิสัมพันธ์สามทางระหว่างภาระงาน การสนับสนุนทางสังคมในองค์การ และกลยุทธ์การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสามารถทำนายผลของความเหนื่อยหน่ายในงาน โดยความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างภาระงานและความเหนื่อยหน่ายในงานจะลดลง เมื่อกลยุทธ์การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามีระดับสูงร่วมกับการสนับสนุนทางสังคมในองค์การมีระดับสูง (β = -1.55, p < 0.05) กล่าวคือ ข้าราชการที่มีการสนับสนุนทางสังคมในองค์การร่วมกับกลยุทธ์การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะมีความเหนื่อยหน่ายในงานต่ำกว่าข้าราชการที่มีการสนับสนุนทางสังคมในองค์การและกลยุทธ์การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในระดับต่ำ ข้อค้นพบนี้ยืนยันได้ว่าโมเดลข้อเรียกร้องในงานและแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องานที่เสริมกลยุทธ์การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในฐานะทรัพยากรบุคคลสามารถยับยั้งอิทธิพลทางบวกระหว่างภาระงานต่อความเหนื่อยหน่ายในงาน