Abstract:
การวิจัยเชิงทำนายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และศึกษาปัจจัยทำนายอาการหายใจลำบาก โดยใช้แนวคิดทฤษฎีอาการไม่พึงประสงค์เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลว ทั้งเพศชาย และเพศหญิง อายุระหว่าง 40-59 ปี ที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลตติยภูมิ 3 แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 122 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการรับรู้การเจ็บป่วย แบบสอบถามการรับรู้การควบคุมตนเอง แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม แบบสอบถามการดูแลตนเอง และแบบประเมินอาการหายใจลำบาก เครื่องมือวิจัยผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ ดังนี้ 0.70, 0.81, 0.82, 0.79 และ 0.96 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และสถิติการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณโดยวิธีนำตัวแปรเข้าทั้งหมด ผลการวิจัยพบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว อาการหายใจลำบากน้อย โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 19.49 (SD 23.88) มีลักษณะของอาการหายใจลำบากดังนี้ หอบ หายใจไม่ทัน ต้องหายใจมากขึ้น หายใจเข้าได้ไม่สุด หายใจได้ตื้น ๆ และหายใจออกได้ไม่สุด 2. การรับรู้การเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์ทางบวกกับอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=.336) ส่วนการรับรู้การควบคุมตนเองมีความสัมพันธ์ทางลบกับอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= -.291) 3. อายุ การดูแลตนเอง และการสนับสนุนทางสังคม เป็นตัวแปรที่ไม่มีความสัมพันธ์กับอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว 4. การรับรู้การเจ็บป่วย และการรับรู้การควบคุมตนเองสามารถทำนายอาการหายใจลำบากของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ร้อยละ 18 ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .180, F = 5.078, p < 0.05)