Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ได้รับยาเคมีบำบัด ได้แก่ ระยะของโรค ระดับฮีโมโกลบิน กิจกรรมทางกาย ภาวะโภชนาการ ความวิตกกังวล และการสนับสนุนทางสังคม กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อายุระหว่าง 18-59 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิง ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 3 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 136 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความเหนื่อยล้า แบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรม แบบประเมินภาวะโภชนาการ แบบประเมินความวิตกกังวล และแบบวัดแรงสนับสนุนทางสังคม ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ .91, .72, .70, .71 และ .90 ตามลำดับ วิเคราะห์ปัจจัยทำนายด้วยสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ได้รับยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่มีความเหนื่อยล้าระดับปานกลาง (Mean = 5.17, S.D. = .06)
2. กิจรรมทางกาย ภาวะโภชนาการ และระดับฮีโมโกลบิน มีความสัมพันธ์ทางลบกับความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.306, r = -.299 และ r = -.224 ตามลำดับ)
3. กิจกรรมทางกาย และภาวะโภชนาการ สามารถร่วมกันทำนายความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีอำนาจการทำนายได้ร้อยละ 19.9 นอกจากนี้ยังพบว่า กิจกรรมทางกายเป็นปัจจัยหลักในการทำนายความเหนื่อยล้า สามารถสร้างสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐานได้ดังนี้
( Zความเหนื่อยล้า) = -.331Zกิจกรรมทางกาย -.325Zภาวะโภชนาการ