Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการศึกษาสมรรถนะตามหน้าที่ของพยาบาลออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ โดยใช้เทคนิคการวิจัยแบบ Ethnographic Delphi Futures Research (EDFR) ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 20 คน ประกอบด้วย 1) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาคือแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ 3 คน 2) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร คือพยาบาลออร์โธปิดิกส์ระดับหัวหน้าหอผู้ป่วย 4 คน 3) ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการพยาบาลออร์โธปิดิกส์ คือพยาบาลออร์โธปิดิกส์ระดับปฏิบัติการ 6 คน 4) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ คืออาจารย์พยาบาลด้านออร์โธปิดิกส์ทางคลินิก 3 คนและ 5) ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงคือ พยาบาลผู้ปฏิบัติการขั้นสูงสาขาการพยาบาลออร์โธปิดิกส์ วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วยการเก็บข้อมูล 3 รอบ คือ รอบที่ 1การสัมภาษณ์เกี่ยวกับสมรรถนะตามหน้าที่ของพยาบาลออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลตติยภูมิ 4 ระดับได้แก่ พยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และ ระดับเชี่ยวชาญ รอบที่ 2 นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์เนื้อหาแล้วนำมาสร้างแบบสอบถามให้ผู้เชี่ยวชาญประมาณค่าแนวโน้มความสำคัญของสมรรถนะตามหน้าที่ของพยาบาลออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลตติยภูมิ แต่ละด้านและรอบที่ 3 นำข้อมูลที่ได้จากรอบที่ 2 มาคำนวณค่ามัธยฐานค่าพิสัยระหว่างควอไทล์จัดทำเป็นแบบสอบถามให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันความคิดเห็นเพื่อสรุปผลการศึกษาสมรรถนะตามหน้าที่ของพยาบาลออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ผลการวิจัยพบว่าการศึกษาสมรรถนะตามหน้าที่ของพยาบาลออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ แต่ละระดับ ประกอบด้วยสมรรถนะ 6 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการปฏิบัติการพยาบาลออร์โธปิดิกส์ 2) ด้านการให้ข้อมูลและคำปรึกษาทางคลินิก 3) ด้านการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางออร์โธปิดิกส์ 4) ด้านการจัดการความเสี่ยงทางออร์โธปิดิกส์ 5) ด้านการสื่อสารและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และ 6) ด้านการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล พยาบาลปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ทั้ง 4 ระดับ จะมีสมรรถนะเหล่านี้แตกต่างกัน โดยสรุปดังนี้ พยาบาลออร์โธปิดิกส์ระดับปฏิบัติการ สามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์และปฏิบัติงานอื่นๆในระดับพื้นฐาน พยาบาลออร์โธปิดิกส์ระดับชำนาญการ สามารถนำความรู้เชิงลึกมาใช้ในการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ที่มีภาวะซับซ้อนและวิกฤติและปฏิบัติงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ พยาบาลออร์โธปิดิกส์ระดับชำนาญการพิเศษ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถนิเทศทางการพยาบาล และพัฒนาคุณภาพการพยาบาลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ พยาบาลออร์โธปิดิกส์ระดับเชี่ยวชาญ สามารถเป็นที่ปรึกษาการพยาบาลผู้ป่วยออร์ปิดิกส์ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและเผยแพร่นวัตกรรมทางการพยาบาลออร์โธปิดิกส์ได้