Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความดันโลหิตในผู้สูงอายุหลังได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจก่อนและหลังได้รับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 2) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความดันโลหิตในผู้สูงอายุหลังได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุชายและหญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและแพทย์ให้การรักษาโดยการทำหัตถการขยายหลอดเลือดหัวใจ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี มีค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างมากกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 48 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 24 คน กลุ่มควบคุม 24 คน โดยทำการจับคู่ด้านเพศ อายุ ชนิดของกลุ่มยาลดความดันโลหิตที่ได้รับ ทั้งที่กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ จำนวน 5 ครั้ง ครั้งละ 20-60 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกระดับ ความดันโลหิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา และสถิติทดสอบค่าที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้สูงอายุหลังขยายหลอดเลือดหัวใจที่ได้รับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพมีค่าเฉลี่ยความดันโลหิตต่ำกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<.05)
2. ผู้สูงอายุหลังขยายหลอดเลือดหัวใจที่ได้รับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ มีค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของภายหลังได้รับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต่ำกว่ากว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (p<.05)