Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ศึกษาสองกลุ่มแบบวัดซ้ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ 1) อาการซึมเศร้าในผู้ป่วยเสพติดสารกลุ่มโอปิออยด์ที่ได้รับโปรแกรมจัดการการตีตราตนเองในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองทันที และหลังการทดลอง 1 เดือน และ 2) อาการซึมเศร้าในผู้ป่วยเสพติดสารกลุ่มโอปิออยด์ระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมจัดการการตีตราตนเองกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองทันที และหลังการทดลอง 1 เดือน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเสพติดสารกลุ่มโอปิออยด์ที่มีปัญหาอาการซึมเศร้าจำนวน 38 คน ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์กำหนด และเข้ารับการบำบัดที่คลินิกเมทาโดน สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ได้รับการสุ่มแบบเจาะจงและจับคู่กลุ่มตัวอย่างด้วย เพศ อายุ และระยะเวลาที่เข้ารับการบำบัดด้วยเมทาโดนทดแทน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 19 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมจัดการการตีตราตนเอง ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยประยุกต์จากแนวคิดการบำบัดด้วยการยอมรับและพันธะสัญญาของ Hayes et al. (2006) ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) โปรแกรมจัดการการตีตราตนเอง 2) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 3) แบบประเมินอาการซึมเศร้า 9 คำถาม ฉบับปรับปรุงภาษาไทยภาคกลาง และ 4) แบบประเมินการตีตราตนเองสำหรับผู้เสพติดสารกลุ่มโอปิออยด์ เครื่องมือชุดที่ 1 และ2 ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน เครื่องมือชุดที่ 4 ผ่านการแปลย้อนกลับจากสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครื่องมือชุดที่ 3 และ 4 มีค่าความเที่ยงแอลฟาของคอนบราคเท่ากับ .77 และ .79 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ กำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยเสพติดสารกลุ่มโอปิออยด์ของกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมจัดการการตีตราตนเองในระยะหลังการทดลองทันที และหลังการทดลอง 1 เดือน ลดลงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมจัดการการตีตราตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยเสพติดสารกลุ่มโอปิออยด์ของกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมจัดการการตีตราตนเองลดลงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามปกติ ในระยะหลังการทดลองทันที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยในระยะหลังการทดลอง 1 เดือน อาการซึมเศร้าของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน