Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ 1) พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ติดแอลกอฮอล์ ระหว่างก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการบำบัดแบบครอบครัว และ 2) พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ติดแอลกอฮอล์กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการบำบัดแบบครอบครัวกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ติดแอลกอฮอล์และสมาชิกในครอบครัว ที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จำนวน 50 ครอบครัว ได้รับการจับคู่กลุ่มตัวอย่างด้วยอายุและระดับปัญหาพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ แล้วถูกสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 25 ครอบครัว กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการบำบัดแบบครอบครัว (Family Intervention Program) ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) โปรแกรมการบำบัดแบบครอบครัว 2) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 3) แบบบันทึกพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ 4) แบบประเมินสัมพันธภาพในครอบครัว และ 5) แบบประเมินปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องมือทุกชุดผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน เครื่องมือชุดที่ 3 มีความเที่ยงสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันโดยวิธีทดสอบซ้ำเท่ากับ .94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ติดแอลกอฮอล์ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการบำบัดแบบครอบครัวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ติดแอลกอฮอล์ที่ได้รับโปรแกรมการบำบัดแบบครอบครัวและผู้ติดแอลกอฮอล์ที่ได้รับการดูแลตามปกติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยครั้งนี้สนับสนุนว่า การใช้โปรแกรมการบำบัดแบบครอบครัวสามารถช่วยให้พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ติดแอลกอฮอล์ลดลงได้