Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาประสบการณ์การมีอาการและวิธีการจัดการอาการไม่พึงประสงค์จากยารักษาวัณโรคปอดของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอดรายใหม่ จำนวน 394 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน จากผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มาติดตามการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกคลินิกวัณโรค จำนวน 7 โรงพยาบาล ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 3 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามอาการไม่พึงประสงค์ และ 3) แบบสอบถามวิธีการจัดการอาการไม่พึงประสงค์ ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ของแบบสอบถามอาการไม่พึงประสงค์ทั้ง 4 มิติ คือ มิติการเกิดอาการ มิติความถี่ มิติความรุนแรง และมิติความทุกข์ทรมาน ได้เท่ากับ 0.86, 0.81, 0.84 และ 0.86 ตามลำดับ และแบบสอบถามวิธีการจัดการอาการไม่พึงประสงค์ในด้านการเลือกปฏิบัติและประสิทธิผลของวิธีการจัดการอาการได้เท่ากับ 0.96 และ 0.97 ตามลำดับ วิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบที สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และสถิติทดสอบครัสคาล-วัลลิส ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. อาการไม่พึงประสงค์หลักจากการรับประทานยารักษาวัณโรคปอดที่กลุ่มตัวอย่างรายงานมากที่สุดในมิติการเกิดอาการคือ อาการคัน คิดเป็นร้อยละ 28.2 มิติความถี่และมิติความรุนแรง คือ อาการตาเหลือง ตัวเหลือง (Mean ±SD = 2.79 ± 1.18 2.86 ± 1.70 ตามลำดับ) และ มิติความทุกข์ทรมาน คือ อาการคล้ายไข้หวัด (Mean ± SD = 2.50±1.069) 2. วิธีการจัดการอาการไม่พึงประสงค์ที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1) เกา เป็นวิธีที่ใช้ในการจัดการอาการคัน คิดเป็นร้อยละ 14.2 2) รับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นวิธีที่ใช้ในการจัดการอาการคลื่นไส้ คิดเป็นร้อยละ 9.1 และ 3) แบ่งรับประทานอาหารออกเป็นหลายมื้อ เป็นวิธีที่ใช้ในการจัดการอาการเบื่ออาหาร คิดเป็นร้อยละ 7.1 3. เมื่อเปรียบเทียบภาระอาการทั้ง 4 มิติ พบว่า เพศ เป็นตัวแปรเดียวที่กลุ่มตัวอย่างรายงานประสบการณ์การมีอาการไม่พึงประสงค์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (t =3.33) ส่วน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ อายุ ดัชนีมวลกาย โรคร่วม และ ระยะเวลาการรักษา เป็นตัวแปรที่กลุ่มตัวอย่างรายงานประสบการณ์การมีอาการไม่พึงประสงค์แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (t =1.73, t=.70, F=.39, F=.35, F= 2.54 และ X2=.54 ตามลำดับ)