Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงบรรยายนี้ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และความสัมพันธ์ระหว่าง เพศ ประสบการณ์การมีอาการ การจัดการตนเอง ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิง ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังมากกว่า 6 เดือน ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลตติยภูมิ ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 132 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบประเมินประสบการณ์การมีอาการ แบบประเมินการจัดการตนเอง แบบสอบถามความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า และแบบประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ 0.94, 0.81, 0.84 และ 0.71 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้ 1. คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังอยู่ในระดับดี โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 55.57 (SD= 12.71) 2. ภาวะซึมเศร้า มีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 (r = -.20) 3. เพศ ประสบการณ์การมีอาการ การจัดการตนเอง และความวิตกกังวล ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง แต่ประสบการณ์การมีอาการ และการจัดการตนเอง มีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำและปานกลางกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 (r = -.20, -.39 ตามลำดับ) และความวิตกกังวล มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 (r = .60)