Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียว วัดแบบอนุกรมเวลา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาความเครียดในการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ก่อน ระหว่าง และหลังได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูด และ 2) เพื่อเปรียบเทียบความเครียดในการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ก่อน ระหว่าง และหลังได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูด กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดต่อความเครียดในการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแล โดยใช้แนวคิดฮิวแมนนิจูดของ Gineste & Marescotti (2008) ทั้งนี้โปรแกรมได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดภาระในการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง พัฒนาโดย ซาริท และซาริท (Zarit & Zarit, 1990) แปลเป็นภาษาไทยโดย ชนัญชิดาดุษฎี ทูลศิริ และคณะ (2554) มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.89 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำและเปรียบเทียบเป็นรายคู่
ผลการวิจัยพบว่า 1) ค่าเฉลี่ยความเครียดในการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแลหลังเสร็จสิ้นโปรแกรมการดูแลแบบฮิวแมนนิจูดลดลงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลแบบฮิวแมนนิจูดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และค่าเฉลี่ยความเครียดในการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแลก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลแบบฮิวแมนนิจูด ในสัปดาห์ที่ 1 หลังเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลแบบฮิวแมนนิจูดในสัปดาห์ที่ 2, 3, 4, 5 และหลังเสร็จสิ้นโปรแกรมการดูแลแบบฮิวแมนนิจูดในสัปดาห์ที่ 6 ลดลงอย่างต่อเนื่อง 2) ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เกี่ยวกับการดูแลแบบฮิวแมนนิจูดของผู้ดูแลหลังเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 4) ค่าเฉลี่ยคะแนนกิจกรรมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05